นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวปาฐกถาอนาคตเศรษฐกิจไทย ในงานสัมมนา Thailand : Take Off จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน ว่า เศรษฐกิจไทยจะ Take Off ได้ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน โดยปัญหาในปี 66 อยู่ที่ภาคการส่งออกหดตัว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งภูมิภาค ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศไม่มีปัญหา มีแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 28 ล้านคน และการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี
ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรอรัฐบาลใหม่ การพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคาดว่าอย่างช้าที่สุดจะเสร็จภายในไตรมาส 1/67 จากการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่ใช้งบปีงบประมาณและปีปฏิทิน ในช่วงไตรมาส 4/66 จะมีงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และงบผูกพันอีก 9 แสนล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท
ขณะที่ไตรมาส 1/67 คาดว่าจะมีงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจตามปีปฏิทิน ออกสู่ระบบอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และมีงบผูกพันอีกประมาณ 7 แสนล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงิน 2 ไตรมาสที่จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 1.8-1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเพียงพอที่จะพยุงเศรษฐกิจได้ ระหว่างที่รองบประมาณปี 67 ซึ่งเชื่อว่าถ้างบประมาณผ่านในไตรมาส 1/67 รัฐบาลชุดใหม่ก็ต้องเร่งเบิกจ่ายเพื่อให้ทันระยะเวลา
"ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 เดินหน้าฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ปัญหาที่จะเข้ามากระทบ ก็เป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก ไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจภายใน ส่วนเรื่องค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค จากนี้จะเริ่มปรับลดลงตามราคาพลังงาน แต่ก็ยังห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ต้องให้ความสำคัญ ที่จะฉุดรั้งการใช้จ่ายในระยะต่อไป รวมถึงต้องดูหนี้เสียในกลุ่มรถยนต์ ที่ต้องเฝ้าระวังจริงจัง เพราะมีแนวโน้มขยับขึ้นเรื่อยๆ ไตรมาสละ 0.2-0.3% และหนี้บัตรเครดิต ที่ต้องระมัดระวังใช้จ่ายเกินตัว" นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า การทำรัฐสวัสดิการของรัฐบาลชุดใหม่ จะต้องคำนึงความเหมาะสม และสถานการณ์ด้านการคลัง ซึ่งช่วงนี้ควรต้องทำสวัสดิการแบบพุ่งเป้า จะทำแบบถ้วนหน้าไม่ได้ การจะทำรัฐสวัสดิการได้ ต้องมีฐานะการเงินการคลังที่เข้มแข็งกว่านี้ ต้องมีการจัดเก็บรายได้ และฐานภาษีที่มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีการยื่นแบบ 11 ล้านราย แต่มีการเสียภาษีจริงเพียง 4 ล้านรายเท่านั้น ดังนั้นต้องเร่งปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ ปรับโครงสร้างภาษี และดึงกลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาเสียภาษี ไม่หลีกเลี่ยงภาษีก่อน
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับพรรคก้าวไกล ส.อ.ท. ไม่ได้กังวลเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง แต่ห่วงเรื่องการขึ้นแบบกระชาก ซึ่งการปรับค่าแรง 450 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นทันที 35% จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งพรรคก้าวไกลก็รับฟัง และชี้แจงว่าการขึ้นค่าแรงทันทีแบบ S-Curve จะช่วยแก้ไขปัญหาค่าแรงต่ำ และหนี้สินให้กับประชาชนได้
"ก้าวไกล ชี้แจงว่า 450 บาทเป็นนโยบายของพรรค แต่ในฐานะรัฐบาลพรรคร่วม ต้องรับฟังทุกคน ถ้าเป็นพรรคเดียวอาจไม่ต้องถามคนอื่น ซึ่งก็จะมีการเดินสายรับฟังเอกชนจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าการขึ้นค่าแรง จะมีความเห็นไปในทางเดียวกัน และควรต้องยึดความเห็นจากคณะกรรมการไตรภาคี ไม่ก้าวข้ามกลไกที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ซึ่งเชื่อว่าก้าวไกลจะนำไปพิจารณา" นายเกรียงไกร กล่าว
นอกจากนี้ ข้อเสนอของ ส.อ.ท. คือช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ควรมีมาตรการต่างๆ ออกไปช่วยเสริม โดยเฉพาะลดผลกระทบจากค่าแรง ค่าไฟฟ้า และภาระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งรื้อกฎหมายที่ล้าสมัยกว่าแสนฉบับ ที่เป็นกับดักกับผู้ประกอบการ ล็อกไม่ให้ธุรกิจไปไหน และกระตุ้นให้เกิดการทุจริต จ่ายสินบนใต้โต๊ะ ในกรณีที่ต้องการให้การดำเนินธุรกิจมีความรวดเร็ว เช่น กระบวนการขอใบอนุญาตต่างๆ