กระทรวงพาณิชย์ วิเคราะห์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย พบยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นประเด็นความท้าทายของประเทศ ชี้การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สังคมสูงอายุ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นปัจจัยท้าทายที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น แนะรัฐ เอกชน และภาคประชาชน ร่วมมือกันเตรียมพร้อมและรับมือกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย พบว่า ความเหลื่อมล้ำยังคงเป็นประเด็นท้าทายของประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ปรับเพิ่มจาก 7.7 ล้านล้านบาท ในปี 2551 เป็น 10.2 ล้านล้านบาท ในปี 2563
อย่างไรก็ดี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ และเป็นปัญหาสั่งสมที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ อันเป็นความพยายามร่วมกันในการลดความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ
ทั้งนี้ หากพิจารณาสถานะความเหลื่อมล้ำของไทยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนของคนจนลดลงจาก 65% ในปี 2531 เหลือเพียง 6.3% ในปี 2564 แต่หากมองเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2564) พบว่า สัดส่วนคนจนไม่ได้ลดลงมากนัก แต่กลับคงตัวอยู่ที่ระดับ 6-8% โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตร ซึ่งครัวเรือนที่มีรายได้หลักจากเกษตรกรรมจำนวนกว่า 11% ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน
ขณะเดียวกัน หากเปรียบเทียบระหว่างประเทศในกลุ่มทวีปเอเชียด้วยกัน ความเหลื่อมล้ำที่วัดด้วยค่าสัมประสิทธิ์จีนีของไทย ซึ่งเป็นการวัดค่าความแตกต่างของรายได้ครัวเรือน อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำของประเทศ พบว่า มีทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
- การเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม การใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน และการพัฒนาประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถ เป็นได้ทั้งโอกาสสำหรับผู้ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันเป็นประเด็นท้าทายสำหรับกลุ่มที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี และไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
- การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ปี 2562?2593 ทวีปเอเชียจะมีประชากรสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก โดยประเทศไทย สัดส่วนผู้สูงวัยเฉลี่ยต่อประชากรทั้งประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวเท่ากับ 17.2% เป็นอันดับที่ 5 ของเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้รองจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเก๊า
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้สูงวัยจำนวน 13.8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยคาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนประชากรสูงวัยจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 31.3% ของประชากรทั้งประเทศ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุยังหมายถึงสัดส่วนกำลังแรงงานเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุและเด็กจะลดลง ซึ่งจะทำให้อัตราการพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานเพิ่มสูงขึ้น
- การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันไทยยังอยู่ในเส้นทางการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถเติบโตได้ดีนับตั้งแต่เกิดการหดตัวในช่วงการระบาด กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนาน เช่น ผู้ค้ารายย่อยที่สูญเสียรายได้จากการปิดกิจการช่วงโควิด-19 กลุ่มที่ประกอบอาชีพรับจ้าง กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ภาครัฐควรมีนโยบายช่วยเหลือให้กลุ่มดังกล่าวฟื้นตัวโดยเร็ว เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
- การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่แม้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แต่ส่งผลกระทบในวงกว้าง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง บ่อยครั้งขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีแนวโน้มจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนกลุ่มยากจนและด้อยโอกาสจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตร
"จากประเด็นความท้าทายข้างต้น หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังกล่าว โดยสนค. เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปี 2566 ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ที่ยังคงเป็นปัญหาของประเทศ และเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน" นายพูนพงษ์ กล่าว