นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญในการเร่งสร้างและพัฒนากำลังคนของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วยอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve & New S Curve) และทันกับการเปลี่ยนแปลงและทิศทางการพัฒนาของโลก โดยเฉพาะเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ยานยนต์สมัยใหม่ ตลอดจนอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ที่ต้องอาศัย AI และคาดว่าความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ยังจะเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยมีการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนการประกอบและทดสอบ (assembly and testing) และเริ่มมีในส่วนของการออกแบบ (IC Design) บ้าง แต่ยังขาดในส่วนการผลิต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้มีการแสวงหาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้เกิดการผลิตกำลังคนด้านนี้ให้รวดเร็ว และมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นายอนุชา กล่าวว่า ล่าสุดข้อมูลของ อว. ระบุว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.เกษตรศาสตร์, ม.เชียงใหม่, ม.ขอนแก่น, ม.สงขลานครินทร์, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความสนใจในการทำหลักสูตรในการผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยได้มีการร่วมหารือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 6 แห่งของไต้หวัน ที่มีการเรียนการสอนและทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชนในด้านเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อร่วมมือกันในการผลิตกำลังคนและงานวิจัย
โดยในการผลิตกำลังคน จะมีการจัดทำหลักสูตรในระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท ด้าน Semiconductor ร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยไทยจะใช้วิธีการ Higher Education Sandbox ในการพัฒนาหลักสูตร ที่ไม่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิตบัณฑิตให้ตอบสนองต่อการผลิตคนที่มีคุณภาพ ที่มีปริมาณมากและรวดเร็ว โดยตั้งเป้าให้มีนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงในโปรแกรมไม่น้อยกว่า 200 คน/ปี ในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านเครื่องมือ ด้านวัสดุ ด้านการออกแบบ IC ด้านกระบวนการผลิต ด้านการทดสอบและแพ็กกิ้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นอกจากหลักสูตรในระดับปริญญาแล้ว มหาวิทยาลัยไต้หวันบางแห่ง จะช่วยในการดำเนินการจัดฝึกอบรมระยะสั้นให้แก่บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย เพื่อเพิ่มพูนทักษะในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การส่งเสริมให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสในการฝึกปฏิบัติงานใน บริษัท Semiconductor ชั้นนำของโลกที่ไต้หวัน รวมถึงส่งเสริมให้นักวิจัยไทย ได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยของไต้หวันทางด้าน Semiconductor เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ด้วย
"การดำเนินการและความร่วมมือดังกล่าวที่เกิดขึ้น รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นอุตสาหกรรมขั้นสูง และมีความสำคัญในปัจจุบันและอนาคต" นายอนุชา กล่าว