นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หน่วยงาน Department of Veterinary Services (DVS) และ Department of Islamic Development Malaysia (JAKIM) ของประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศรับรองโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยเพิ่มอีก 11 แห่ง หลังจากเดินทางมาตรวจประเมินเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคม 2566 เพื่อประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนด เงื่อนไข และระเบียบของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียมีความเชื่อมั่นและได้ชื่นชมในระบบการตรวจสอบ กำกับ ควบคุมและดูแลกระบวนการผลิตของกรมปศุสัตว์ที่ทำงานอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง
สำหรับโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่มาเลเซียประกาศรับรองเพิ่ม ได้แก่ โรงฆ่าไก่ 7 แห่ง โรงฆ่าเป็ด 1 แห่ง และโรงงานผลิตภัณฑ์นม 3 แห่ง รวมปัจจุบันมาเลเซียรับรองโรงงานผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของประเทศไทยแล้ว 37 แห่ง ซึ่งคาดการณ์ในปี 2566 นี้ มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักด้านสุขภาพสัตว์ และความปลอดภัยด้านสินค้าปศุสัตว์ ได้ดำเนินงานในการตรวจสอบ ควบคุม และกำกับดูแลกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ฟาร์มถึงโรงเชือดชำแหละและแปรรูป เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้บริโภคสินค้าปศุสัตว์ที่ปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้า ในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทย จากการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนที่เป็นมาตรฐานสากล ด้วยความเข้มงวด ต่อเนื่องมาโดยตลอดทำให้ได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศทั่วโลก
สถานการณ์การส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ของไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นี้ สามารถส่งออกได้มูลค่า 85,059 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วช่วงเวลาเดียวกัน มีสินค้าเด่นคือ เนื้อไก่แช่เย็นแช่แข็ง มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 46,000 ล้านบาท จากความต้องการบริโภคของตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มนำเข้าเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการขึ้นทะเบียนโรงงานเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งกรมปศุสัตว์มุ่งมั่น กำกับดูแลทุกขั้นตอนการผลิตอย่างเข้มงวดต่อเนื่องตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตของไทย ทั้งมาตรฐานด้านสุขภาพสัตว์ สวัสดิภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความสอดคล้องตามระเบียบและข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าและหลักสากล สามารถเพิ่มโอกาสทางการค้าและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันด้านปศุสัตว์ของไทยในตลาดโลกต่อไป