นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวร หอการค้าไทย-จีน กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกว่า ปัจจุบันโลกของเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก เราจึงจำเป็นต้องศึกษาวิทยาการด้านต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกา และต้องนำทรัพยากรจากทั่วโลก ทั้งด้านบุคคลากร เงินทุน เทคโนโลยี และวัตถุดิบ เข้ามาที่จีน ซึ่งในวันนี้ถือว่าจีนมีปัจจัยพื้นฐานในด้านต่าง ๆ เหล่านี้พร้อมที่จะพลิกโฉมการพัฒนาจากเดิมที่ใช้แรงงานราคาถูก เราจึงมีความมั่นใจในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างมาก
โลกยุคใหม่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเศรษฐกิจ คือ สงครามแข่งขันในด้านการค้า จึงต้องมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ บริการ และเทคโนโลยี รวมถึงต้องพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และความสามารถทัดเทียมระดับนานาชาติ แข่งขันได้อย่างไม่เพลี่ยงพล้ำในเวทีโลก ซึ่งในโลกอนาคตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์ และไบโอเทคโนโลยี แต่ไม่ต้องกลัวคนตกงาน เพราะหุ่นยนต์จะใช้แรงงานแทนคน ส่วนคนต้องหันไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงกว่านั้น
นายธนินท์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของโลก ผ่านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่โครงการที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น สิทธิปลอดภาษีโครงการที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์เทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งในยุค 4.0 ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงยังมีความสำคัญ เพราะอีคอมเมิร์ชต้องอาศัย Real Economy ในการผลิตสินค้าที่จับต้องได้ และต้องอาศัยโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งทางบก เพื่อส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ใช้นวัตกรรมในการผลิตให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง มูลค่าสูงขึ้น จึงจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ชและโลจิสติกส์ดำรงอยู่ต่อไป
นายธนินท์ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และมีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ลงทุนที่ไทยเป็นฐานการผลิตหลัก จึงหวังว่านักลงทุนชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก จะพิจารณามาลงทุนที่ไทย โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ EEC หรือเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
"การค้าของโลกในอนาคตนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยี เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น คุณภาพของสินค้าก็จะดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เศรษฐกิจในยุค 4.0 ไม่ได้หมายถึงให้เราละทิ้งธุรกิจเก่าที่เคยมีมาก่อน แต่ให้เราใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มาพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจที่เรามีอยู่ ทำให้ธุรกิจมีความทันสมัยมากขึ้น และสามารถขยายธุรกิจออกไปให้มากขึ้น" นายธนินท์ กล่าว
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 เป็นเวทีการรวมตัวของนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลก ซึ่งกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยมีหอการค้าสิงคโปร์-จีน หอการค้าฮ่องกง-จีน และหอการค้าไทย-จีน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและร่วมผลักดันการจัดการประชุม ปัจจุบันการประชุมจัดมาแล้ว 15 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งได้จัดการประชุมขึ้นในประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ หมุนเวียนกันไป
การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 นี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการลงทุนอุตสาหกรรม เป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ที่จะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน ที่เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยรัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เป็นเส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นใหม่