นายหลี เสี่ยวปอ นายกสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน-ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไอซีบีซี (ICBC) กล่าวในการสัมมนากลุ่มย่อย "ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย" ในงานประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ว่า ประเทศจีนถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยต่อเนื่องนับเป็นสิบปี โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา การค้าไทย-จีน มีมูลค่า 1.35 แสนล้านดอลลาร์ โดยจีนเข้ามาลงทุนในไทยสูงสุดที่ 2,200 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) โดยความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ที่เพิ่มมากขึ้น มีทั้งความร่วมมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ ยางล้อ โซลาเซลล์ อีคอมเมิร์ซ เป็นต้น
ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนจีนคำนึงถึงในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทย คือ ความสัมพันธ์ไทย-จีนที่มีความมั่นคงในระยะยาว, ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมการลงทุนที่ดี โดยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าลงทุนเป็นลำดับต้นๆ จากธนาคารโลก อีกทั้งการลงทุนในประเทศไทย ยังช่วยขยายห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมของจีน ซึ่งไทยมียังมีการให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุน เช่น ด้านภาษี มีนิคมอุตสาหกรรมที่มีความสมบูรณ์
นอกจากนี้ เสถียรภาพระบบการเงินของไทยที่มีความแข็งแกร่ง มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับ 14 ของโลก มีการดูแลและลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน การมี MOU ร่วมกันในการชำระเงินสกุลท้องถิ่น ตลอดจนความนิยมในการใช้อีคอมเมิร์ซอย่างกว้างขวาง เหล่านี้จึงทำให้ไทยน่าสนใจและมีความได้เปรียบด้านการลงทุนมากกว่าประเทศอื่นๆ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่ดีที่สุดของจีน เพราะไทยมีจุดแข็งตั้งอยู่ในศูนย์กลางอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี มีซัพพลายเชนที่ครบวงจร ในอุตสาหกรรมยายนนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งมีนโยบายการลดคาร์บอน ส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG และมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เพียงพอ โดยจุดสำคัญที่สุด คือ มีความปลอดภัยในการลงทุน เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ และยังปลอดภัยจากปัญหาภัยธรรมชาติที่รุนแรง
"จุดดึงดูดเหล่านี้ ทำให้หลายบริษัทของจีน ไม่เพียงแต่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อป้อนตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังใช้ประเทศไทย เป็นฐานในการผลิตเพื่อส่งออกด้วย" เลขาธิการบีโอไอ ระบุ
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากจีนเติบโตเร็วมาก ทำให้ปัจจุบันจีนเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทย มีมูลค่าลงทุนสูงถึง 9 หมื่นล้านหยวน โดยในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ จีนลงทุนในไทยแล้วราว 5 พันล้านหยวน เติบโตสูงถึง 87% นอกจากนี้ ไทยยังมีการส่งเสริมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดคล้องกับการลงทุนของจีนด้วย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ EV อุตสาหกรรม BCG อุตสาหกรรมดิจิทัล จึงคาดว่าในอนาคตจะทำให้ไทยและจีน สามารถขยายมูลค่าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นได้อีก
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการเชิญชวนให้นักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทยให้มากขึ้น เพราะประเทศไทยมีโอกาสที่ดีในการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรม S-Curve หรือ อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics), อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals), อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital), อุตสาหกรรมการแพยท์ครบวงจร (Medical Hub)
โดยขณะนี้ ส.อ.ท. ได้มีการจัดตั้งสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ระหว่างไทยและจีนมากขึ้นในอนาคต
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการลงทุนของประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งมีผลต่อศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว จะเชื่อว่าผลที่ได้รับจากการจัดประชุมในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยที่จะเพิ่มโอกาส และขยายประเภทการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เป็นผลของการฟื้นตัวได้ช้าของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเศรษฐกิจของไทยต้องพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ดี ในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.6% คาดว่าทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับขึ้นมาที่ 29 ล้านคน ซึ่งจะมีการเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปี โดยในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนถึง 5 ล้านคน
นายเมธี กล่าวด้วยว่า ระบบการเงินของไทยถือว่ามีความเข้มแข็ง แม้หลายประเทศจะมีปัญหาในช่วงโควิด แต่นโยบายการเงินของไทยมีความผ่อนคลายในหลายด้าน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าหลายประเทศ และต่ำสุดในอาเซียน ประกอบกับการไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรงแบบประเทศอื่น ซึ่งส่งผลดีต่อการลงทุนในระยะต่อไป
พร้อมกันนี้ ยังมองว่าทั้งตลาดเงินและตลาดทุนยังมีความผันผวนสูง ซึ่ง ธปท.จะพยายามหาเครื่องมือเพื่อป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำการค้า และมีต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ต่ำลง
อย่างไรก็ดี ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องค่าจ้างที่อาจปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และอาจจะกระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ การส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจที่ทำได้ไม่เต็มที่ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีการแข่งขันสูง ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดี อาจะทำให้ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนมายังราคาสินค้ามากขึ้น
"รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามา มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ซึ่งจะมีผลต่อการขาดดุลงบประมาณ ความยั่งยืนทางการคลัง และเงินเฟ้อในระยะยาว" นายเมธี ระบุ