ส่งออกไทยพ.ค. หดตัว 4.6% ดีกว่าตลาดคาด มอง H2/66 แนวโน้มดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 27, 2023 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่งออกไทยพ.ค. หดตัว 4.6% ดีกว่าตลาดคาด มอง H2/66 แนวโน้มดีขึ้น

กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพ.ค.66 พบว่า การส่งออก มีมูลค่า 24,340 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.6% จากตลาดคาดหดตัว 8-10% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 26,190 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือนพ.ค. ไทยขาดดุลการค้า 1,849 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.66) การส่งออก มีมูลค่า 116,344 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.1% การนำเข้า มีมูลค่า 122,709 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 6,365 ล้านดอลลาร์

"ยอดการส่งออกเดือนพ.ค. ที่ -4.6% ถือว่าดีขึ้นจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ -7.6% เราติดลบน้อยลง และถ้าเทียบกับประเทศคู่แข่งแล้ว จะเห็นว่าส่วนใหญ่ต่างติดลบกัน 2 digit ซึ่งเป็นไปตาม trend ของเศรษฐกิจโลก" นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกไทยในปีนี้ ไว้ที่ 1-2% และเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สถานการณ์การส่งออกจะเริ่มดีขึ้น ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ หากแยกการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่าสินค้าเกษตร หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออก 2,312 ล้านดอลลาร์ ลดลง 27% ซึ่งเป็นผลของฤดูกาลที่ปริมาณผลผลิตผลไม้ในภาคตะวันออก ออกสู่ตลาดน้อยลง อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าเกษตรที่การส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น สินค้าข้าว ขยายตัว 84.6% ที่มูลค่า 460.5 ล้านดอลลาร์ และสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 55.5% ที่มูลค่า 122.3 ล้านดอลลาร์

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน โดยมีมูลค่าการส่งออก 2,133 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.6% แต่ยังมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น น้ำตาลทราย ขยายตัว 44.3% ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัว 28.9% และเครื่องดื่ม ขยายตัว 10.3%

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวได้ในรอบ 8 เดือน มูลค่าการส่งออก 19,012 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.5% โดยมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ, รถยนต์ อุปกร์ และส่วนประกอบ

สำหรับตลาดส่งออกที่สามารถเติบโตได้ดีใน 10 อันดับแรก ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ โต 330.2% กลุ่ม CIS โต 97.7% ทวีปออสเตรเลีย โต 11.4%, ตะวันออกกลาง โต 11.2%, สหภาพยุโรป โต 9.5%, ทวีปแอฟริกา โต 7.9%, ไต้หวัน โต 7.6%, สหราชอาณาจักร โต 5.9%, สหรัฐอเมริกา โต 4.2% และอาเซียน (5) โต 0.1%

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออกของไทยในช่วงจากนี้ คือ 1.การส่งเสริมพลังงานสะอาด ในการสนับสนุนการส่งออกชิ้นส่วนที่นำไปผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ 2.ความต้องการสำรองอาหารและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก 3.การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการเดินทาง

"ยังมีประเด็นที่น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย คือ ค่าเงินบาท ที่เริ่มอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ นอกจากนี้ World Bank ได้ประเมินเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน แสดงว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทยตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงสิ้นปี" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังคงมีความเสี่ยง จาก (1) ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป (2) สภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในปีนี้ (3) แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และภาคการผลิตสินค้า (4) การเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการพึ่งพาตนเองของจีน

ขณะที่ปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย ได้แก่ (1) การดำเนินนโยบายในเชิงรุกและเชิงลึกของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งรักษาตลาดเดิม เจาะตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสของผู้ประกอบการส่งออกไทย (2) แนวโน้มการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการบริโภคและการลงทุน (3) ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาจเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย

ด้านนายธนวุฒิ นัยโกวิท ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าต่างประเทศ (สคต.) กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา กล่าวว่า จากที่กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศคว่ำบาตรธนาคารรัฐของเมียนมา 2 แห่ง เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.66 นั้น จากการประเมินผลกระทบที่จะมีต่อการส่งออกไทย ของ สคต.ย่างกุ้ง ซึ่งประชุมร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต และสมาคมนักธุรกิจของไทยในย่างกุ้งแล้ว เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจและการส่งออกระหว่างไทยกับเมียนมา เนื่องจากกลุ่มนักธุรกิจไทยในเมียนมาได้คาดการณ์สถานการณ์ไว้แล้ว และเตรียมแผนสำรองในการทำธุรกิจ และการชำระเงินไว้ จึงเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

"เป็นเพียงการแซงชั่นธนาคารรัฐ 2 แห่ง เพื่อกดดันเมียนมาในการบรรลุข้อตกลงที่ประเทศตะวันตกได้เรียกร้อง เบื้องต้น ธนาคารัฐ 2 แห่งไม่ได้มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจมากนัก ส่วนราชการ หรือบริษัทที่ต้องชำระเงินผ่านธนาคารรัฐของเมียนมาทั้ง 2 แห่งนี้ ยังสามารถเปลี่ยนไปทำธุรกรรมกับธนาคารอื่นได้อีกหลายแห่งตามปกติ เรามองว่า ไม่ได้เป็นมาตรการที่รุนแรงมาก แค่สร้างแรงกดดันให้กับเมียนมาเท่านั้น" ผู้อำนวยการ สคต.ย่างกุ้ง กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ