กรมราง สรุปแผนแม่บท M-MAP2 ในก.ค.นี้-สายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง รอเสนอรัฐบาลใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 27, 2023 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมราง สรุปแผนแม่บท M-MAP2 ในก.ค.นี้-สายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง รอเสนอรัฐบาลใหม่

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เพื่อประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 "โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2" หรือ M-MAP 2 ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2566 เพื่อนำเสนอผลการศึกษา สรุปเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรี จึงจะประกาศเป็นแผนแม่บทต่อไป

กรมราง สรุปแผนแม่บท M-MAP2 ในก.ค.นี้-สายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง รอเสนอรัฐบาลใหม่

นายพิเชฐ กล่าวว่า รถไฟฟ้าตามแผนแม่บท M-MAP เดิม มีโครงข่ายรวม 553.41 กม. ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 242.34 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 105.40 กม.ขณะที่ การพัฒนา M-MAP จะหมดอายุในปี 2572 ดังนั้นจึงต้องศึกษาเพื่อวางแผน M-MAP 2 ที่จะใช้ในระยะ 20 ปีต่อไป (73-92) เพื่อให้การขับเคลื่อนต่อเนื่อง ซึ่งการจัดทำวางแผน M-MAP 2 ได้มีการจัด Focus Group รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล ประกอบไปด้วย จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐมและนำข้อมูล ไปดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมร่วมกับแผน M-MAP 2 Blueprint ที่ทาง JICA เคยศึกษาไว้เพื่อตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Project Long List) และนำมาดำเนินการคัดกรอง ทั้งด้านกายภาพและจำนวนผู้โดยสาร เพื่อให้ได้แนวเส้นทางระบบรางที่เลือก (Project Short List) แล้วนำมาจัดลำดับความสำคัญ และดำเนินการศึกษา ในด้านวิศวกรรม การลงทุน และสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นต่อไป

โดยการเสนอแนะและคัดกรองเส้นทาง แผน M-MAP 2 มีการจัดลำดับความสำคัญโครงการ 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A1 โครงการมีความจำเป็น และเร่งด่วน กลุ่ม A2 คือ โครงการที่มีความจำเป็น แต่ไม่เร่งด่วน ก่อสร้างเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม กลุ่ม B โครงการแนะนำ คือเส้นทางมีศักยภาพ แต่เวลายังไม่เหมาะสมที่จะสร้าง เป็นการกำหนดเส้นทางเพื่อวางแผนร่วมกับการพัฒนาเมืองรองรับอนาคต ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญ ประกอบด้วย นโยบายด้านการวางแผน ความพร้อมของโครงการ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน และสังคม และ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

เบื้องต้นโครงการใน M-MAP 2 มีจำนวน 29 เส้นทาง (Project Long List) ประกอบด้วย 1. เส้นทางใน M-MAP 1 ที่ยังไม่ได้ดำเนินการ (M) จำนวน 8 เส้นทาง (12 ช่วง) เส้นทางใหม่ 13 เส้นทาง และ เส้นทางต่อขยายเดิม 8 เส้นทาง

นอกจากนี้ยังมีการทำแบบจำลองคาดการณ์ความต้องการเดินทาง พร้อมแนวคิดในการส่งเสริมการใช้ระบบราง เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่าย กับเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกรมราง นำเสนอแผนไปยังกระทรวงการคลังแล้ว ,มาตรการด้านภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Tax/Carbon Tax) เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนและนิติบุคคล ,การอุดหนุนค่าโดยสารกับประชาชน

"ในการทำแผนแม่บทรถไฟฟ้า ที่ผ่านมา ขาดข้อมูลเรื่องการพัฒนาโปรกเจ็กต์ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ ทั้งศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ ที่จะเกิดการเดินทางของประชาชนจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือหน่วยราชการ ท้องถิ่น และภาคเอกชน เพื่อนำมาวางแผนใน M-Map 2 ไม่ใช่มารู้เมื่อ เปิดโปรเจ็กต์แล้วบอกว่าอยากได้ระบบรางเข้าไป แบบนี้ไม่ทันกัน เพราะโครงการรถไฟฟ้าต้องใช้เวลา ศึกษา ออกแบบ ก่อสร้าง มีเรื่องเวนคือนและ EIA อีก ต้องใช้เวลาหลายปี" นายพิเชฐ กล่าว

ส่วนโครงการที่อยู่ใน M-MAP เดิมที่ยังไม่ได้ก่อสร้างแต่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งโครงการได้ศึกษาออกแบบเรียบร้อย และ EIA ได้รับอนุมัติแล้ว กรมรางมีความพร้อมที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลใหม่พิจารณา ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดง 3 เส้นทาง ด้านเหนือ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, สายสีแดง ด้านตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท เส้นทางที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรองรับปริมาณการเดินทางจำนวนมาก เนื่องจาก เป็นศูนย์ในด้านโรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา

ส่วนสีแดง ด้านตะวันออก ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานี เพราะบริเวณใกล้เคียงมีโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีส่วนที่ต้องเวนคืน ทำให้ต้องศึกษาออกแบบใหม่ และศึกษาEIA ใหม่ หรือกลับไปเริ่มต้นทำโครงการใหม่ ใช้เวลาอีกประมาณ 4-5 ปี

สายสีแดง ด้านใต้ ช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่-มหาชัย ยังมีประเด็น ผลกระทบด้านเวนคืนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะช่วงหัวลำโพง-วงเวียนใหญ่ ผ่านพื้นที่ชุมชนหนาแน่น แผนเดิมเป็นทางยกระดับ มีแนวคิดปรับเป็นใต้ดินแต่ค่าก่อสร้างสูงมากกว่า 3 เท่า ไม่คุ้มค่า จึงจะประเมินความเหมาะสมและช่วงเวลาในการก่อสร้างที่จะคุ้มค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ