สศค. เผยศก.ไทยพ.ค.ได้แรงหนุนท่องเที่ยว-บริโภค-เงินเฟ้อลดต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 29, 2023 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สศค. เผยศก.ไทยพ.ค.ได้แรงหนุนท่องเที่ยว-บริโภค-เงินเฟ้อลดต่อเนื่อง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพ.ค.2566 โดยเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ค.66 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย การบริโภคภาคเอกชน และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่29.4% และ 13.5% โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 จากระดับ 55.0 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 และสูงสุดในรอบ 39 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -6.5% และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -9.8%

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 17% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -12.4% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 8.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 3.8% ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4.1% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 33.6%

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -4.6% และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าลดลงที่ -1.4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากส่งออกสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเคมีภัณฑ์ สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี อาทิ ข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และน้ำตาลทราย รวมทั้งสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ยังมีหลายตลาดที่ยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ ตลาดทวีปออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป (15) และสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัวถึง 97.7%

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.01 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 286.3% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 4.2% โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนพฤษาคม 2566 จำนวน 19.7 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 24.5% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 13.3%

สำหรับภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ -6.6% และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า -10.7% จากการลดลงของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์และประมง ยังคงขยายตัวได้ ส่วนภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนพฤษภาคม 2566 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 92.5 จากระดับ 95.0 ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยสำคัญด้านอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 0.53% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.55% ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ 61.6% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 0.70% ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 220.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ