ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) ได้เปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึง 26 มกราคม 2566 เกี่ยวกับร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ที่มุ่งเน้นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงาน และภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงก่อน
เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทย มีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมินหรือกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทางเลือก เพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงิน ที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น
ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับมิติการลดก๊าซเรือนกระจกก่อน
ทั้งนี้ บางส่วนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ให้ระบุรายการที่เข้าข่ายเป็นกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Red list of activities) และให้พิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่น อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม เป็นต้น เพิ่มเติมในระยะถัดไปด้วย
โดยคณะทำงานฯ ได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวมา ประกอบการพิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสาร Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ได้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ผ่านทางเว็บไซต์ ธปท. (ลิงก์เอกสาร) เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. (ลิงก์เอกสาร) และช่องทางอื่นๆ ที่จะประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนี้ ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. มีกำหนดการจัดงานสัมมนา "Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน" ในวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 14.00-16.00 น. เพื่อประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญและการนำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ไปใช้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยาม และจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทย
"ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคส่วนต่างๆ จะสามารถนำ Thailand Taxonomy มาใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการกำหนดนโยบาย หรือกลยุทธ์การสร้างโอกาสในการหาแหล่งเงินทุน ตลอดจนการบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจไทย เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่น และทันการณ์ต่อไป"