ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยพ.ค.ฟื้นต่อเนื่อง ตามท่องเที่ยว-ใช้จ่ายในปท.หนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 30, 2023 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยพ.ค.ฟื้นต่อเนื่อง ตามท่องเที่ยว-ใช้จ่ายในปท.หนุน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย เศรษฐกิจไทยเดือนพ.ค. 66 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภค และการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำ ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัวต่อเนื่อง

ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตามค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง ประกอบกับมีผลของฐานสูงในปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อย

ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยพ.ค.ฟื้นต่อเนื่อง ตามท่องเที่ยว-ใช้จ่ายในปท.หนุน

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ การจัดกิจกรรมในช่วงเลือกตั้ง การเลื่อนเบิกจ่ายวงเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาจากเดือนก่อน ประกอบกับมีช่วงวันหยุดยาว ด้านปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคในภาพรวม

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยพิเศษ ที่ทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการนำเข้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครื่องบิน ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างเพิ่มขึ้น จากทั้งยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำตามการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมและชลประทาน ส่วนรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านพลังงาน และสาธารณูปโภค

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วฟื้นตัวจากเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะยานยนต์ สินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนปรับลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น หลังจากที่ลดลงมากในเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การผลิตปิโตรเลียมลดลงจากปัจจัยชั่วคราวที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อน จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และเคมีภัณฑ์ และจากสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ไฟฟ้าที่เร่งนำเข้าไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด อาทิ การนำเข้าเครื่องบิน และคอมพิวเตอร์เป็นสำคัญ

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง ยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย และญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวบางสัญชาติปรับลดลงบ้าง อาทิ อินเดีย และมาเลเซีย ซึ่งเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนทรงตัวจากเดือนก่อน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ ตาม 1) ค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ 2) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลง สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ 3) ผลของฐานสูงปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูง ในราคาเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ

ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ และรายจ่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญา ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

นายสักกะภพ ยังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.ด้วยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในเดือนมิ.ย.66 คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคภาคเอกชน และตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ระยะต่อไป ต้องติดตาม 1. เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูง 2. การจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ 3. ผลของค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อกลุ่มเปราะบาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ