นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ปรับปรุงความครอบคลุมของสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนให้มีความครบถ้วนมากขึ้น โดยประเมินจากข้อมูลใหม่ คือ ความน่าเชื่อถือของการเก็บข้อมูลและประมวลผล ความมีคุณภาพ อธิบายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจได้ ความถี่ของการจัดเก็บข้อมูล การเปิดเผยข้อมูล และไม่ล่าช้าเกินไป
โดยพบว่า หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/2566 ปรับเพิ่มขึ้นอีก 4.5% ต่อ GDP โดยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 7.66 แสนล้านบาท ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP จากเดิมที่ 15.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.3% ต่อ GDP
นายสักกะภพ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เป็นการขยายความครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่ม 4 กลุ่ม ซึ่งเป็นหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การก่อหนี้ใหม่ โดยเป็นการปรับข้อมูลย้อนหลังไปถึงไตรมาส 1/2555 ประกอบด้วย หนี้ของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.85 แสนล้านบาท หนี้สหกรณ์อื่น ๆ ที่ไม่รวมสหกรณ์ออมทรัพย์ 2.65 แสนล้านบาท หนี้พิโกไฟแนนซ์ 6 พันล้านบาท และหนี้การเคหะแห่งชาติ 1.1 หมื่นล้านบาท
"หนื้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น มาจากการปรับปรุงข้อมูลส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการศึกษา โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 4% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และถ้าถามว่า ธปท.กังวลกับหนี้ครัวเรือนหรือไม่ เรื่องนี้ก็มีการสื่อสารมานานว่ามีความกังวล แต่ไม่ได้กังวลเพิ่ม เพราะการปรับข้อมูลใหม่นี้ เป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้เพิ่งเกิดใหม่ ก็เป็นการติดตามตัวเลขในภาพรวม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการดูแลหนี้ครัวเรือนได้...จากการติดตามภาพรวม ไม่กังวลว่าหนี้เสีย (NPL) จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ก็คงไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว" นายสักกะภพ กล่าว