แบงก์ชาติ ชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเป็น NPL เพิ่ม เร่งออก 3 ทางแก้ที่ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2023 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบงก์ชาติ ชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเป็น NPL เพิ่ม เร่งออก 3 ทางแก้ที่ยั่งยืน

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือน ในงาน Media Briefing ว่า ธปท. ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิด และผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหนี้ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้

โดยล่าสุด สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 ทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด โดยอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP แต่เพิ่มขึ้นจากหนี้ครัวเรือน ในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4% เนื่องจาก ธปท.มีการปรับข้อมูลชุดใหม่ให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ เช่น หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้สหกรณ์ หนี้การเคหะฯ

แบงก์ชาติ ชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเป็น NPL เพิ่ม เร่งออก 3 ทางแก้ที่ยั่งยืน

ขณะที่จำนวนบัญชี และยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด (ลูกหนี้รหัส 21) ล่าสุดได้ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนต.ค.65 แล้ว จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยจำนวนบัญชีของลูกหนี้รหัส 21 นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 จนถึงสิ้นมี.ค.66 อยู่ที่ 4.4 ล้านบัญชี จากก่อหน้านี้ที่ 4.7 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ประมาณ 3.1 แสนล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ 4.1 แสนล้านบาท

น.ส.สุวรรณี กล่าวด้วยว่า หนี้ครัวเรือนทั้งหมดไม่ได้น่ากังวล หากเป็นการนำไปใช้เพื่อสิ่งจำเป็น หรือเพื่อการประกอบอาชีพ แต่หนี้ครัวเรือนที่น่ากังวลคือ หนี้ในกลุ่มสินเชื่อบุคคล ซึ่งไม่ได้นำไปใช้ในสิ่งที่จำเป็น หรือไม่ได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งหนี้ของกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

แบงก์ชาติ ชี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนเป็น NPL เพิ่ม เร่งออก 3 ทางแก้ที่ยั่งยืน

ส่วนแนวโน้มของหนี้ กยศ.นั้น มองว่า หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กยศ.ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเบี้ยปรับลงนั้น เชื่อว่าจะทำให้แนวโน้มหนี้ กยศ. ทยอยปรับลดลงได้

* แนวโน้ม NPL เพิ่มจากกลุ่มเปราะบาง/ผู้มีรายได้น้อย

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ในระยะต่อไป ธปท.ประเมินว่าหนี้เสีย (NPL) อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL cliff (หนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด) และเป็นระดับที่สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการได้ สอดคล้องกับมุมมองของ Rating Agencies ต่อภาคธนาคารไทยที่ยังมั่นคง อีกทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้

สำหรับสินเชื่อรถยนต์ ที่จัดชั้น stage 2 (SM) ที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด ไม่จำเป็นว่าจะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด ดูได้จากพฤติกรรมของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าอาจเว้นงวดผ่อนรถ เพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น ทำให้โดยทั่วไป SM ของสินเชื่อรถยนต์จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้

* เร่งออกเกณฑ์ 3 แนวทางแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน

น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ธปท. จะเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ และร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยแนวทางที่ ธปท. จะดำเนินการ คือ

(1) เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้-ระหว่างเป็นหนี้-หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ มีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้

(2) กลไก Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญ คือ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง

(3) มาตรการ Macroprudential Policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสูงการก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR)

น.ส.สุวรรณี คาดว่า แผนการนำมาใช้ในส่วนของเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (RL) และการแก้หนี้เรื้อรัง จะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยมาตรการ RBP สำหรับในเรื่อง MAPP การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดในปลายเดือนก.ค.นี้ต่อไป

พร้อมระบุว่า การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงินการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ และการแก้จน/ สร้างรายได้ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ