สรท. ลดเป้าส่งออกปีนี้เป็น -0.5 ถึง 1% จากเดิมคาดโต 0-1% รอลุ้นครึ่งปีหลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 4, 2023 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สรท. ลดเป้าส่งออกปีนี้เป็น -0.5 ถึง 1% จากเดิมคาดโต 0-1% รอลุ้นครึ่งปีหลัง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาวะการส่งออกในปีนี้อาจไม่เติบโตตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐสหภาพยุโรป และจีนยังไม่ฟื้นตัว ทำให้คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะอยู่ในช่วง -0.5 ถึง 1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 0-1%

หากยอดส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 24,200 ล้านดอลลาร์ การส่งออกในปีนี้จะหดตัว -0.5% แต่หากยอดส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 24,400 ล้านดอลลาร์ การส่งออกในปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 0% หากจะให้ขยายตัว 1% ยอดส่งออกเฉลี่ยต้องเพิ่มเป็นเดือนละ 24,800 ล้านดอลลาร์ และหากจะให้ขยายตัว 2% ยอดส่งออกเฉลี่ยต้องเพิ่มเป็นเดือนละ 25,200 ล้านดอลลาร์

"เดือนมิถุนายนอาจเห็นตัวเลขติดลบอีกเป็นเดือนสุดท้าย หากสถานการณ์เลวร้ายสุดการส่งออกปีนี้น่าจะติดลบ 0.5% แต่ถ้าเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอาจจะขยายตัวได้ 1% แต่จะให้ได้ 2% อาจจะมีความท้าทายแต่โอกาสน้อยลง" นายชัยชาญ กล่าว

ประธาน สรท.กล่าวว่า การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากทิศทางการชะลอตัวเมื่อปีก่อน ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นไปเจาะตลาดใหม่ เน้นสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ข้าว อาหาร และคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อจากเทศกาลคริสมาสต์

"ปีนี้น่าจะเท่าเดิมหรือบวกนิดหน่อย โจทย์ครึ่งปีหลังว่ายากแล้ว แต่โจทย์ปีหน้ายากยิ่งกว่า" นายชัยชาญ กล่าว

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยปีนี้ ได้แก่

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน หลังจากการเปิดประเทศของจีนเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ สหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ลดต่ำลงอยู่ที่ 46.3 และยุโรป ณ ระดับ 43.6
  • อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ
  • ต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า วัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทย
  • ความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (El Nino) ต่อภาคการเกษตรในประเทศ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่

  • เร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
  • ขอให้ภาครัฐเร่งลดต้นทุนภาคการผลิต ที่ปรับสูงขึ้นและอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ย
  • เร่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในโซ่อุปทาน (Supply Chains Financing) โดยเฉพาะ SMEs
  • เร่งเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ