KKP ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวแม้ท่องเที่ยวฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 4, 2023 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

KKP ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวแม้ท่องเที่ยวฟื้น

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ปี 66 นับเป็นปีที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง จาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. การประกาศเปิดเมืองที่เร็วกว่าคาดของจีนในช่วงต้นปี ที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น ต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม 2. การบริโภคในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องตามรายได้จากภาคการท่องเที่ยว และ 3. ภาคการส่งออกที่คาดว่าจะไม่ชะลอตัวลงมาก เพราะการเปิดเมืองของจีนจะช่วยให้อุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกปรับดี

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมาสัญญาณเศรษฐกิจหลายอย่างเริ่มชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อ่อนแอลงกว่าที่ประเมินไว้ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจอาจจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากตัวเลขนักท่องเที่ยว KKP Research ยังคงมุมมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง และไม่เท่ากัน และคาดว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว อาจจะเผชิญความท้าทายและมีทิศทางที่ชะลอตัวลง ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลักที่เปลี่ยนไปจากช่วงต้นปี คือ

1. รายได้จากภาคการท่องเที่ยวไม่กระจายไปภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ตามที่คาด ในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจนถึงเดือนพ.ค. กลับมาได้ประมาณ 11 ล้านคน แต่สัญญาณในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ กลับยังไม่ได้ฟื้นตัวได้ดีนัก โดยนับจนถึงปัจจุบันการบริโภคในกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ภาคบริการยังฟื้นตัวกลับไปใกล้เคียงกับระดับก่อนโควิดเท่านั้น ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่การบริโภคฟื้นตัวได้ดีมาก

สอดคล้องกับที่ KKP Research ประเมินว่า ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจและพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ต่ำ และครอบคลุมรายได้ของแรงงานเพียงประมาณ 11% ของประเทศเท่านั้น

2. อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น การชะลอตัวลงของการปล่อยสินเชื่อ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในภาคธนาคาร เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญหน้ากับแรงกดดันที่อาจทำให้วัฏจักรสินเชื่อกำลังเปลี่ยนทิศทางเป็นขาลง คือ

  • หนี้ครัวเรือนของไทยที่ปรับสูงขึ้นเกินกว่า 80% ของ GDP เป็นระดับที่เริ่มจะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจ
  • การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยในปัจจุบันปรับสูงขึ้นมากกว่ารายได้
  • ปัญหาหนี้เสียในประเทศที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และการเติบโตของสินเชื่อเริ่มชะลอลงโดยสินเชื่อในภาพรวมโตได้เพียง 0.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ และจะทำให้แนวโน้มการบริโภคสินค้าคงทน เช่น บ้าน รถยนต์ ชะลอตัวลงตาม

3. การเปิดเมืองของจีนไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ดีตามที่ตลาดคาด โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดทั้งการบริโภคและการลงทุนของจีนมีสัญญาณชะลอตัว KKP Research ประเมินว่า การชะลอตัวนี้มีส่วนสำคัญมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยใน 2 มิติ คือ

  • ประการแรก นักท่องเที่ยวจีนมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาได้ไม่ถึง 5 ล้านคนตามที่คาดไว้ โดยนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ที่ออกมาเที่ยว ยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงที่เลือกเดินทางไปประเทศในแถบยุโรปมากกว่าอาเซียน
  • ประการที่สอง การส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีอาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นช้า โดยยังคงประมาณการว่าการส่งออกทั้งปีของไทยจะติดลบที่ -3.1%
*เงินเฟ้อลด สะท้อนเศรษฐกิจชะลอ

เงินเฟ้อไทยปรับตัวลงเร็วกว่าที่ประเมินสะท้อนเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้า แม้ในช่วงต้นปีจะมีความกังวลว่า ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยจะค้างอยู่ในระดับสูงจากเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการส่งผ่านราคาจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่ประเมินไว้ค่อนข้างเร็ว

KKP Research ประเมินว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาต่ำกว่าคาดสะท้อนว่า เศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศไม่ได้เติบโตได้แข็งแกร่งมากนักในช่วงที่ผ่านมา แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวแล้วก็ตาม และมีการปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อในปี 66 ลดลงเหลือเพียง 1.8%

*เมื่อเศรษฐกิจพลิกโผ เป็นความเสี่ยงต่อค่าเงิน

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงแสดงความกังวลด้านเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นในอนาคต แต่เศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน ทำให้ KKP Research ประเมินว่า ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นมีน้อย และคงการคาดการณ์เดิมว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้อีกแค่ 1 ครั้งไปที่ 2.25%

ในทางตรงกันข้ามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามาถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้นสูงและยาวนานกว่าที่ตลาดคาด ความแตกต่างของสถานการณ์เศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่าที่ตลาดประเมินได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 66

ทั้งนี้ มี 2 ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามอง คือ 1. ภาคการท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด และ 2. ทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จะทำให้ธปท. เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการปรับอัตราดอกเบี้ย และส่งผลต่อการคาดการณ์ของตลาด

*จับตา 3 ความเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ

KKP Research ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้ ยังต้องระวังความเสี่ยงอีกอย่างน้อย 3 เรื่อง และจะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวชะลอลงรุนแรงกว่าที่คาดได้มาก คือ

1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงและดอกเบี้ยขาขึ้น จะกระทบต่อภาวะการเงิน และภาระหนี้ในไทย ซึ่งอาจทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะการลดหนี้ (Deleveraging cycle)

2. เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงชะลอตัว แต่จากข้อมูลในอดีต ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากที่สุดยังมีอยู่ในช่วงกลางถึงปลายปี 67 และจะกลับมากระทบกับภาคต่างประเทศของไทยได้

3. ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะในกรณีเลวร้าย เช่น หากมีการชุมนุมประท้วง ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ