เงินเฟ้อมิ.ย.โต 0.23% ชะลอตามราคาอาหาร-น้ำมัน ปรับลดเป้าหมายปีนี้เหลือ 1-2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 5, 2023 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินเฟ้อมิ.ย.โต 0.23% ชะลอตามราคาอาหาร-น้ำมัน ปรับลดเป้าหมายปีนี้เหลือ 1-2%

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือน มิ.ย.66 เพิ่มขึ้น 0.23% จากตลาดคาด 0.0-0.15% โดยเป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือน 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 22 เดือนตั้งแต่ ส.ค.64 เนื่องจากการลดลงราคาสินค้าในหมวดอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับฐานในเดือน มิ.ย.65 อยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.66) เพิ่มขึ้น 2.49%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) หรือเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนมิ.ย.66 เพิ่มขึ้น 1.32% ชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.87%

เงินเฟ้อมิ.ย.โต 0.23% ชะลอตามราคาอาหาร-น้ำมัน ปรับลดเป้าหมายปีนี้เหลือ 1-2%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 66 ลดลงมาอยู่ที่ 1-2% จากเดิม 1.7-2.7% ตามสมมติฐานที่เปลี่ยนไปด้วย คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ โด 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 71-81 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 33.50-35.50 บาท/ดอลลาร์ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับใหม่นี้ ยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ว่า ในเดือนมิ.ย.66 มีสินค้าและบริการสำคัญ 59 รายการ ที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ผักบุ้ง พริกสด น้ำมันพืช ผงซักฝอก น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารเดลิเวอรี่ เป็นต้น ส่วนสินค้าและบริการสำคัญ 334 รายการ ที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไข่ไก่, ผักคะน้า, กระเทียม, มะนาว, ค่ากระแสไฟฟ้า, ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ขณะที่สินค้าและบริการสำคัญ 37 รายการ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ รองเท้า หนังสือพิมพ์ ค่าโดยสาร นิตยสารรายเดือน เป็นต้น

เงินเฟ้อมิ.ย.โต 0.23% ชะลอตามราคาอาหาร-น้ำมัน ปรับลดเป้าหมายปีนี้เหลือ 1-2%

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 3/66 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราค่อนข้างต่ำ ที่ 0.77% เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มทรงตัว และเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งอาหารบางชนิด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่คาดว่าราคาจะลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ขณะที่ราคาสินค้าบางชนิด โดยเฉพาะผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอิทธิพลของภัยแล้ง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ, แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในหลายภูมิภาค และมาตรการภาครัฐต่าง ๆ รวมทั้งภัยแล้งที่อาจรุนแรงกว่าที่คาด ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดได้

พร้อมกันนี้ สนค. ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาสที่ 4/66 จะอยู่ที่ระดับ 0.62%

"เงินเฟ้อไตรมาส 3 และช่วงครึ่งปีหลัง จะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกรปรับลดลง จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีสัญญาณที่ทรงตัวในกรอบแคบ ซึ่งราคาน้ำมันถือว่ามีอิทธิพลสำคัญมากต่อเงินเฟ้อ" นายวิชานัน ระบุ

รองผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า เงินเฟ้อของประเทศไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จะพบว่าอยู่ในระดับต่ำเป็นอันดับ 6 ของโลกจากทั้งหมด 126 ประเทศที่มีการรายงาน และต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน

"ในภาพรวม เงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เรามีระดับเงินเฟ้อที่ต่ำมาก ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่ใกล้เคียงกัน จึงถือว่าเราทำได้ดีกว่า" นายวิชานัน กล่าว

พร้อมระบุว่า อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล โดยก่อนหน้านี้ สนค.เคยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของไทยบางเดือนในปีนี้ มีโอกาสจะติดลบ แต่จากที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์เงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าลง รวมถึงแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้ง ก็เชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดเงินเฟ้อติดลบในปีนี้คงไม่มีแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ