นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า กกร. ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โดยยังคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้ไว้ตามเดิมที่ 3.0-3.5% แต่ปรับประมาณการส่งออกปีนี้ ลดลงมาอยู่ที่ -2 ถึง 0% จากเดิม -1 ถึง 0% และปรับลดกรอบเงินเฟ้อ ลงมาอยู่ที่ 2.2-2.7% จากเดิม 2.7-3.2%
ทั้งนี้ ในที่ประชุม กกร. มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น จากทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจะขึ้นไปถึง 29-30 ล้านคน รวมทั้งรายได้รวมจากท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจากรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นด้วย กกร.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 66 ยังเติบโตได้ราว 3.0-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนยังถูกกดดันจากค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 90.6% ต่อ GDP ทำให้ผู้บริโภคมีข้อจำกัด และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ส่วนมูลค่าการส่งออกปีนี้ ประเมินว่าจะหดตัว -2 ถึง 0% หดตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อ แม้ยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง (เอลนีโญ) และหากจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ยังคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 2.2-2.7% ต่ำลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม ตามทิศทางราคาพลังงาน
ด้านเงินบาท อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค สาเหตุจากเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มกลับมาเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 2 ครั้งในปีนี้ มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เดิม ประกอบกับเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวก็คาด จึงทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าชั่วคราว แต่เชื่อว่าจะทยอยกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากทิศทางดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นของไทย และปัจจัยความไม่แน่นอนในประเทศที่คลี่คลายลง
ที่ประชุม กกร. มองว่าตลาดการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวในการขับเคลื่อนประเทศตอนนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการออกหนังสือเดินทาง และรวมถึงการดูแลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ควรเร่งเพิ่มเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งการเร่งการใช้จ่ายและการจัดทำงบประมาณเป็นเรื่องเร่งด่วน การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การใช้จ่ายภาครัฐไม่สะดุด จะช่วยพยุงเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวท่ามกลางความเสี่ยงรอบด้าน
ข้อมูลจากสมาคมท่องเที่ยว ระบุว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นอันดับ 2 รองจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย โดยนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ค่อนข้างมีคุณภาพ ขณะที่ปัญหาของการท่องเที่ยว คือเที่ยวบินมีไม่เพียงพอ เพราะล่าสุดมีนักท่องเที่ยว เพิ่มเป็น 12,000 คน/วัน จากเดิม 7,000-8,000 คน/วัน พร้อมกันนี้ ยังต้องแก้ปัญหาเรื่องการทำวีซ่าให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกมากขึ้น ข้อมูลล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-2 ก.ค. 66 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วประมาณ 13 ล้านคน หรือเฉลี่ย 2 ล้านคน/เดือน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. มีความกังวลภาระต้นทุนของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับสูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 3/2566 (ก.ย.-ธ.ค. 66) ซึ่งหากพิจารณาจากปัจจัยที่นำมาคำนวณค่า ft แล้ว พบว่ามีปัจจัยบวกให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 10% จากงวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค. 66) และคาดว่าไม่ควรเกิน 4.25 บาท/หน่วย จากเดิม 4.70 บาท/หน่วย เนื่องจาก
1. ปริมาณก๊าซจากอ่าวไทยโดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณทยอยเพิ่มจาก 200 เป็น 600 ล้านล้าน ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMBTU) ในช่วงปลายปี
2. ปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ลดลง
3. ราคา LNG Spot ลดลงมากกว่า 30%
4. ราคาพลังงานโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
5. ภาระหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ลดลงเร็วกว่าแผนด้วยต้นทุนจริง LNG ต่ำกว่าที่เรียกเก็บ Ft แม้ว่าค่าเงินบาทจะยังอ่อนค่าในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงขอให้พิจารณาขยายเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. จาก 5 งวด เป็น 6 งวด เพื่อให้ค่า Ft ลดลงอีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่ง กฟผ. จะได้รับเงินคืนครบภายในเดือนส.ค. 68
และขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาเชื้อเพลิง LNG โดยมอบหมายผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวในการจัดหา เพื่อเป็นการสกัด Demand เทียมจาก Shipper หลายรายที่เข้าจัดหาในตลาด สำหรับนำมาผลิตไฟฟ้าในงวดที่ 3/2566 เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาด และไม่ให้ประเทศเสียเปรียบ โดยจัดหาในราคาเฉลี่ย LNG ในช่วง 14-16 USD/MMBTU ซึ่ง กกร. มีความกังวลว่าหากเข้าสู่ฤดูหนาวจะทำให้ราคา LNG ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานในโลก