ทั้งนี้สมาคมสายการบินประเทศไทย ได้เสนอข้อหารือพิจารณานโยบายที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการ สร้างความแข็งแกร่ง ลดข้อจำกัด และเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจสายการบิน ซึ่งจะตอบโจทย์การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบค่าโดยสาร กล่าวคือ
1. การส่งเสริมนโยบายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เช่น การกำหนดอัตราที่เหมาะสมของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (excise tax) ฯลฯ
2. การเร่งแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการบินไทย เช่น เร่งกระบวนการเพิ่มอุปทานของอุตสาหกรรมการบิน หรือ ขั้นตอนการนำเข้าเครื่องบิน การบูรณาการทำงานระหว่างสนามบินและสายการบิน
3. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมการบิน เช่น การเจรจาเพิ่มสิทธิการบิน ในประเทศกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวไทย การลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น
โดยการเดินทางทางอากาศถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาพรวมของประเทศ เพราะเป็นผู้เชื่อมต่อการสร้างและกระจายรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงการฟื้นฟูที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องอาศัยทั้งการปรับตัวของสายการบิน และการสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐ การหารือร่วมกันในวันนี้จะทำให้ว่าที่รัฐบาลใหม่เห็นภาพสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจการบินในทุกมิติ แผนการฟื้นตัว และข้อเสนอเร่งด่วน โดยสมาคมสายการบินประเทศไทยยืนยันความพร้อมเต็มที่ในการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ อุปนายกสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนสมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้พูดคุยหารือร่วมกับนายพิธา โดยลงรายละเอียดในแต่ละประเด็น ประกอบด้วยเรื่องต้นทุนในธุรกิจการบิน ซึ่งต้องเสียภาษีให้กับหน่วยงานของรัฐ และต้นทุนที่เกี่ยวกับ Supply chain ทั้งหมด รวมทั้งโอกาสที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ อินเดีย เกาหลีใต้ และจีน
นายพิธา ได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องต้นทุนภาษีสรรพสามิตราคาน้ำมันดีเซลที่เกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งได้รับการช่วยเหลือมาโดยตลอดเช่นเดียวกับราคาน้ำมันดีเซลที่ใช้ทั่วไป ทางพรรคก้าวไกลโดยคณะงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานจะกลับไปดูต้นทุนในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องกองทุนน้ำมันของภาครัฐ รวมถึงราคาเนื้อน้ำมัน ซึ่งต้องดูจังหวะที่เหมาะสมและใช้หลาย ๆ ประเด็นในการพิจารณาตัดสินใจ
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องต้นทุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งคิดเป็น 17% ของต้นทุนอุตสาหกรรมการบิน และทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางธุรกิจให้กับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในต่างประเทศ โดยที่ผ่านมามีโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทยแต่โครงการไม่ประสบความสำเร็จ ต้องกลับไปดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในไทยมีอยู่ 2 ที่ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสายการบินแห่งชาติและแอร์บัส ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าไปพูดคุยร่วมกันอย่างละเอียดอ่อน
สำหรับนโยบายการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน นายพิธา ระบุว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวลดลงไปกว่า 38% เท่ากับค่าเฉลี่ยการลดลงของนักท่องเที่ยวทั่วโลกซึ่งถือว่าสมเหตุสมผล ในขณะเดียวกันอาจมีความจำเป็นต้องสมดุลนโยบายเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศระยะสั้น กับภาระการคลังของทางรัฐบาล ซึ่งต้องเป็นประเด็นให้พิจารณาวิเคราะห์ต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่จะผลักดันนโยบายฟรีวีซ่า ซึ่งหลายประเทศใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจการบิน โดยสามารถทำเป็นระยะ ไม่ต้องเปิดถาวร