นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 มีมติเห็นชอบให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษและสามารถทำงานกับนายจ้างไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงาน จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 66 โดยให้นายจ้าง ดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พร้อมรูปถ่าย ต่อกรมการจัดหางานภายในวันที่ 31 ก.ค. 66 โดยให้นายทะเบียนออกหลักฐานการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แก่นายจ้าง และให้คนต่างด้าวใช้บัญชีรายชื่อดังกล่าว เป็นหลักฐานแสดงว่าคนต่างด้าวได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ถึงวันที่ 31 ก.ค. 66 นั้น
กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจยังคงปรากฏอยู่ เนื่องจากคนต่างด้าวที่ไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ภายในวันที่ 13 ก.พ. 66 ประมาณ 5 แสนคน ปัจจุบันกลายเป็นคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ ในขณะที่นายจ้าง/สถานประกอบการ มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้บางส่วนจำเป็นต้องจ้างงานคนต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด หรือเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง กระทรวงแรงงาน จึงเสนอแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้รับข้อร้องเรียนถึงประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสมาชิกผู้ประกอบการ สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการจัดประชุมหารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลมาโดยตลอดเป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.66) ร่วมกับกระทรวงแรงงานอย่างใกล้ชิด โดยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา และมุ่งเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นรูปธรรม
"ขอบคุณรัฐบาล ตลอดจนทุกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มีมาตรการเชิงรุกต่างๆ ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของประเทศไทย และแก้ไขปัญหาการแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อรองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน" นายพจน์ ระบุ
ด้านนายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล กรรมการหอการค้าไทย และรองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า แนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามมติ ครม.ที่กระทรวงแรงงานเสนอนั้น มีความสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการส่งออก และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบกิจการที่ใช้แรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ โปรดเร่งดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง