นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนมิ.ย. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26-30 มิ.ย. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.6 ในเดือนพ.ค. 66
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 52.7
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.8
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 56.1
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.0
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.7
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 52.5
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ระดับรายได้จากนักท่องเที่ยวสูงขึ้น
2. ภาคธุรกิจเริ่มขยายการลงทุน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
3. ความคาดหวังต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อให้สามารถมีคณะรัฐบาลเข้ามาทำงานบริหารแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างเร็วที่สุด
4. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศ และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา
5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 34.253 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพ.ค. 66 เป็น 34.923 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 66 ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกของไทย
6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. สถานการณ์ทางการเมืองมีความไม่แน่นอนสูง จากการจัดตั้งรัฐบาล และการดำเนินการในนโยบายต่างๆ
2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป ทำให้เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวอยู่
3. ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในระดับสูง อาทิ ไฟฟ้า วัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทย
4. อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการสูงขึ้น
5. ความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (El Nino) ต่อภาคการเกษตรในประเทศ
6. ปัญหาค่าเชื้อเพลิง และพลังงาน รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
7. การส่งออกของไทยเดือน พ.ค. 66 หดตัว 4.6% มูลค่าอยู่ที่ 24,340.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 3.4% มีมูลค่าอยู่ที่ 26,190.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,849.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
8. SET Index เดือน มิ.ย. 66 ปรับตัวลดลง 30.44 จุด จาก 1,533.54 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 66 เป็น 1,503.10 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 66
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และความพร้อมในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ
- การดูแลบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และการดำเนินชีวิตในประจำวัน
- ผลักดันการเจรจาเพื่อเปิดตลาดใหม่ และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกไทย เพื่อทดแทนการส่งออกในประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
- เร่งลดต้นทุนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่ปรับสูงขึ้น และอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ
- การปราบปราม และควบคุมการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง
"ปัจจัยลบที่ผู้ประกอบการมีความกังวลมาก คือ สถานการณ์ทางการเมือง ที่มีความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และการดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างไรก็ดี ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย ปรับตัวดีขึ้นเกิน 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4" นายวชิร กล่าว
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยปรับตัวดีสุดตั้งแต่ทำการสำรวจมา คือ ม.ค. 61 หรือดีสุดในรอบ 66 เดือน (5 ปีครึ่ง) แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์คลายตัวจากโควิด-19 แล้ว
"ความเชื่อมั่นทุกภูมิภาคปรับตัวเกิน 50 แต่ไม่ทุกรายการ อย่างไรก็ดี เรื่องแรงงานเกิน 50 ทุกภาคเป็นครั้งแรกที่สำรวจมาตั้งแต่ช่วงโควิด แสดงให้เห็นว่าการจ้างงานกลับมาเป็นปกติ แปลว่าผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้น และในไตรมาส 4/66 จะรู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มจะดี ซึ่งผู้ประกอบการรับรู้ไปนานแล้ว" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี นับจากนี้เป็นต้นไป ยังไม่เห็นสัญญาณของนักท่องเที่ยวจะไม่เข้ามาในประเทศ แต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของการส่งออกเช่นกัน ทั้งนี้ หวังว่าการส่งออกจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นภายในปลายปีนี้ ส่วนปัญหาภัยแล้งจากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างยังอยู่ในระดับกลัว ดังนั้น ภัยแล้งยังไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงหลัก ปัจจัยเสี่ยงหลักคือเรื่องของการเมือง