นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2566 ภายใต้การเมืองไทยที่ยังไม่แน่นอน โดยตั้งสมมติฐานไว้ 2 กรณี ดังนี้
กรณีแรก : ตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในเดือน ส.ค. 66 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าราว 283,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว -1.2% (ช่วงคาดการณ์ระหว่าง -1.8 ถึง 0.8%)
กรณีสอง : ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือน ส.ค. 66 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าราว 279,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหดตัว -2.5% (ช่วงคาดการณ์ระหว่าง -1.9 ถึง -3.1%)
"หากภายในเดือนส.ค.นี้ เราได้รัฐบาลใหม่ ก็คาดว่าการส่งออกจะอยู่ที่ -1.2% ซึ่งถือว่าการส่งออกไทย ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี แต่หากยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ภายในเดือน ส.ค. การส่งออกไทยก็จะหดตัวมากขึ้นไปอยู่ที่ -2.5%" นายอัทธ์ กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการส่งออกของไทย ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลก และคู่ค้าสำคัญชะลอตัว
2. เศรษฐกิจจีนอาจโตไม่ถึง 5%
3. การเมืองที่ยังไม่ชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า
4. อัตราการว่างงานของประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น
5. ค่าเงินที่ผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯที่ทรงตัวในระดับสูง และมีโอกาสปรับขึ้น
6. ภาวะเอลนีโญส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตร
7. ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจปรับตัวสูงขึ้น จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก
นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกของไทยได้อีก เช่น 1. ต้นทุนการผลิตที่สูง เช่น ค่าไฟฟ้า พลังงาน และค่าจ้าง 2. Inflation หรือ Disinflation 3. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ 4. สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ 5. การลดการพึ่งพิงเงินสกุลดอลลาร์ (De-Dollarization)
นายอัทธ์ กล่าวว่า จากแนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของในปีนี้และปีหน้านั้น สิ่งที่ไทยควรเตรียมรับมือกับผลกระทบดังกล่าวคือ ต้องกระจายความเสี่ยงในการส่งออกจากตลาดจีนไปยังตลาดอื่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดที่ยังมีสัดส่วนการส่งออกต่ำกว่า 5% เช่น ตลาดตะวันออกกลาง, แอฟริกา, บราซิล, รัสเซีย, เอเชียกลาง และอินเดีย เพื่อช่วยลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดจีน
ทั้งนี้ มองว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนยังมีปัญหาในหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา, ปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และอัตราการว่างงานสูงถึง 30 ล้านคน โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเทรนด์ของตลาดแรงงานในจีนขณะนี้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมในกลุ่มเทคโนโลยี และไอทีมากขึ้น
"วิธีแก้ปัญหาการส่งออกไทย จากผลกระทบเศรษฐกิจจีนชะลอตัวนั้น เราคงต้องกระจายความเสี่ยงในการส่งออกไปตลาดอื่นๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ยังมีสัดส่วนการส่งออกต่ำกว่า 5%...แนะนำว่าตลาดอินเดีย น่าสนใจ เพราะขนาดตลาดมีความใกล้เคียงกับจีน เป็นโจทย์ที่รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณา เราต้องกระจายความเสี่ยงไปตลาดอื่นมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน" นายอัทธ์ ระบุ
นายอัทธ์ ยังประเมินผลกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยจากปรากฎการณ์เอลนิโญว่า คาดว่าการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรของไทยปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ จะลดลงราว -2.7 ถึง -11% ซึ่งขึ้นกับระดับความรุนแรงของปริมาณน้ำฝนที่ลดลง โดยหากปริมาณน้ำฝนลดลง 10-40% การส่งออกสินค้าเกษตรไทยจะลดลงราว 25,000 ล้านบาท แต่หากปริมาณน้ำฝนลดลงมากกว่า 40% ก็คาดว่าจะมีผลต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้ลดลงราว 1 แสนล้านบาท
"คงไม่ใช่แค่ข้าวเท่านั้น แต่จะเป็นพืชเกษตรแทบทุกตัว โดยเฉพาะผลไม้ ที่ปริมาณผลผลิตจะได้รับผลกระทบจากเอลนิโญ ดังนั้นรัฐบาลใหม่คงต้องเข้ามาดูแลว่าจะมีนโยบายอย่างไร ขณะนี้รัฐบาลเวียดนาม มีนโยบายลดการส่งออกข้าวแล้ว เพื่อรองรับเรื่องความมั่นคงอาหารของประเทศ ไทยต้องคิดแล้วว่าเราจะรับมือกับภาวะโลกร้อนนี้อย่างไร" นายอัทธ์ ระบุ