นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ธปท.เตรียมออกมาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน แนวทางเบื้องต้น เป็นการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรังที่กู้หนี้หมุนเวียนมาโปะหนี้เก่า ปิดจบหนี้ไม่ได้ จ่ายดอกเบี้ยสะสมมากกว่าเงินต้น มีรายได้น้อย โดยจะมีเกณฑ์ให้เหมาะสมกับระดับรายได้ และจะให้แปลงหนี้ก้อนนี้มาเป็น Term Loan มีระยะเวลาภายใน 5 ปี ดอกเบี้ยน้อยกว่า 15% ต่อปี โดยให้ธนาคารเสนอมาตรการแก่ลูกหนี้ และเป็นความสมัครใจของลูกหนี้ รวมทั้งจะต้องถูกบันทึกในเครดิตบูโรด้วย คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 เม.ย.67
นอกจากนี้ ธปท.จะออกแนวทางปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ม.ค.67 เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน หลักการจะให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เปลี่ยนพฤติกรรมผู้กู้และผู้ให้กู้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ขณะที่เป็นหนี้ หนี้ที่เป็นปัญหา หนี้ที่ถูกโอนออกไป และเกี่ยวกับการโฆษณากระตุ้นการกู้ บอกข้อมูลให้แก่ผู้กู้ไม่ครบถ้วน บางโฆษณาไม่บอกดอกเบี้ย หรือระยะเวลาการผ่อน โดย ธปท.หวังว่าสถาบันการเงิน จะต้องบอกข้อมูลให้แก่ลูกหนี้อย่างครบถ้วน ปรับพฤติกรรมไปในทางที่ถูก เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนถึงอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องชำระ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าจะไม่เกิด NPL Cliff (หน้าผา NPL) หรือภาวะหนี้เสียที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากมาตรการธปท.จะสิ้นสุดสิ้นปีนี้ แม้อาจมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม
ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงการให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) การเพิ่มจำนวนธนาคาร และการให้ใบอนุญาต Virtual Bank ที่ไม่เกิน 3 รายนั้น มองว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสม เมื่อเทียบกับธนาคารดั้งเดิมเต็มรูปแบบในไทย 17 แห่ง ซึ่งถือว่าไม่น้อย ส่วนทุนจดทะเบียนกำหนด 5,000 ล้านบาท ที่ตั้งไว้สูงเพราะอยากให้แข่งขันกับรายใหญ่ได้
โดย ธปท.เตรียมเสนอร่างประกาศให้กระทรวงการคลังพิจารณาในสิ้นเดือนก.ค.นี้ และเปิดรับสมัครช่วงสิ้นปีนี้ จากนั้นจะประกาศรายชื่อในปี 2567 เพื่อเริ่มใช้บริการได้ปี 2568
"โจทย์คืออยากเห็นอะไรใหม่ๆ อยากเห็นออกมารองรับผู้กู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ อยากเห็นการกู้รูปแบบใหม่ๆ เพราะทุกวันนี้ใช้ชีวิตบนมือถือ อยากเห็นการกระตุ้นการแข่งขันรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้น Virtual Bank ไม่ต้องมาก แต่ต้องใหญ่พอ เพื่อแข่งขันกับรายใหญ่ๆ ได้ เพื่อไม่สร้างความเสี่ยง โดยเตรียมเสนอร่างประกาศให้กระทรวงการคลังพิจารณาสิ้นเดือนก.ค.นี้" นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทว่า ในช่วงนี้เงินบาทแข็งค่าไปค่อนข้างเร็ว ซึ่งระหว่างวันเงินบาทแข็งค่าหลุดระดับ 34 บาท ลงไปที่ 33.96 บาท/ดอลลาร์ เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและการเมืองในไทย ประกอบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางอ่อนค่า
"การเมืองมีทางออก เงินบาทกลับมาแข็งค่า คิดว่าปัจจัยนี้มีประเด็นอยู่ และที่ชัดเจนคือเรื่องความผันผวน มาจากปัจจัยต่างประเทศ ผันผวนตามปัจจัยทองคำ ดอลลาร์ หยวน และมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ตอนนี้เริ่มชัดเจนขึ้น ทำให้เงินบาทเริ่มแข็งค่า ความผันผวนจะอยู่อีกสักพัก และถูกมองว่าไทยมีเสถียรภาพ ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก และการท่องเที่ยวที่กลับมาในปีนี้" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ