นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่วงเงินใช้จ่าย ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่เหลือเพียง 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังของรัฐบาลชุดใหม่ว่า ปัจจุบันกรอบวงเงินในการใช้จ่ายตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง อยู่ที่ 32% ซึ่งลดลงจากเดิมที่ได้มีการขยายเป็น 35% ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่วนจะต้องมีการขยายเพดานเพิ่มหรือไม่นั้น คงต้องดูความจำเป็น และต้องนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังพิจารณา
"ขณะนี้เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นจะต้องขยายเพิ่ม และมองว่ากรอบวงเงินดังกล่าว ควรกลับไปอยู่ในระดับที่ 30% ตามเดิม เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลัง" รมว.คลัง กล่าว
พร้อมยอมรับว่า กรอบเพดานการใช้จ่ายวงเงินตามมาตรา 28 ที่ต้องขยายเพิ่มเป็น 35% นั้น เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนโครงการรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ดูแลประชาชน เกษตรกร ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่โครงการต่าง ๆ ดำเนินการจบเรียบร้อย ก็ควรต้องปิดโครงการเพื่อคืนวงเงินกลับมา ไม่ควรปล่อยค้างไว้ เพื่อให้กรอบวงเงินปรับลดลงมาอยู่ที่ 30% ตามที่กำหนดไว้
โดยเรื่องการติดตามการปิดโครงการเพื่อให้หน่วยงานคืนวงเงินกลับมานั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ติดตามอยู่ว่าโครงการใดดำเนินการจบแล้ว ก็ให้คืนวงเงินกลับมา
"โครงการไหนจบไปแล้ว ก็ต้องคืนวงเงินมา อย่าปล่อยค้างไว้ ที่ผ่านมาเราทำแบบนี้มาตลอด แม้จะต้องยอมรับว่า ยอดคงค้างตามมาตรา 28 จะยังสูงอยู่ นั่นก็เพราะการตั้งงบประมาณมาเพื่อใช้คืนให้หน่วยงานที่ดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามจำนวน ซึ่งคลังได้พยายามขอกับทางสำนักงบประมาณว่าให้มีการตั้งงบชำระคืนให้หน่วยงานที่ 3.5-4% ไม่งั้นวงเงินตามมาตรา 28 ก็จะเต็มอยู่ตลอด ซึ่งส่วนใหญ่วงเงินที่คืน ก็คืนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพราะรับภาระเรื่องการชดเชยเยอะ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งช่วยค้ำประกันให้ SME" รมว.คลัง กล่าว
ในส่วนของโครงการประกันภัยนาข้าวรอบล่าสุดที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้มีการพิจารณาเห็นชอบนั้น นายอาคม ยืนยันว่าไม่ได้ติดปัญหา หรือมีปัญหาเรื่องงบประมาณแต่อย่างใด เพราะโครงการต้องใช้เงินจากมาตรา 28 อยู่แล้ว เพียงแต่นำเสนอให้ ครม.พิจารณาไม่ทันจริง ๆ ทราบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบได้เตรียมเรื่องไว้เรียบร้อยหมดแล้ว
ส่วนกรณีที่หากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาขณะนี้ ก็ยังมีมาตรการอื่น ๆ อีกหลายมาตรการที่รองรับอยู่แล้ว เช่น มาตรการชดเชยความเสียหาย ส่วนโครงกาประกันภัยนาข้าว เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการที่เข้ามาเสริมมาตรการที่รัฐมีอยู่แล้วเท่านั้น