นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมประจำปี สมัยที่ 64 ของ ESCAP ในหัวข้อ"ความมั่นคงทางพลังงาน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน"ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยระบุไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และก้าวไปข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งฟื้นฟูการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยการยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง
พร้อมกันนี้ได้ยืนยันไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจตลาดเปิดและเสรีจึงต้องสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็ง และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและภูมิภาค ขณะเดียวกันเพื่อให้การพัฒนามีความยั่งยืนจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการด้อยโอกาส แต่สถานการณ์ราคาอาหารที่สูงขึ้นอาจทำให้ปัญหาความยากจนยิ่งเลวร้ายลง โดยเฉพาะในชุมชนเมือง
"ประเด็นสำคัญทั่วโลกในเวลานี้ คือราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น การขาดแคลนพลังงาน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม การสูญเสียของความหลากหลายทางชีววิทยา การเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ และราคาอาหารที่พุ่งทะยานขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความเป็นอยู่ของประชากร ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จึงสำคัญต่อทุกประเทศ เช่นเดียวกับประเทศไทย" นายสมัคร กล่าว
ในภูมิภาคนี้มีประชากรที่ยากจนกว่า 600 ล้านคน การที่สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงทำให้มีแนวโน้มต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติและภาวะการกักตุนอาหารเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสนใจในการรักษาสภาพแวดล้อมพร้อมไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด
"สัตว์และพืชในภูมิภาคแถบเอเชียแปซิฟิกได้ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมากอันเป็นผลจากการบริหารจัดการทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการทำลายสิ่งแวดล้อม การรักษาสัตว์และพืชในภูมิภาคจึงต้องรวมอยู่ในแผนพัฒนาประเทศด้วย" นายสมัคร กล่าว
ขณะเดียวกันการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงด้วย เพราะเชื้อเพลิงคือศูนย์กลางของเศรษฐกิจ การขึ้นราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วโลก ภูมิภาคของเราได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนโดยการปฏิรูปการบริหารจัดการพลังงาน การสนับสนุนความร่วมมือภาคพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานที่ไม่มีวันหมด
"อีกวิธีหนึ่งที่ต้องทำคือการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานทางเลือกที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ พลังงานนิวเคลียร์ ความร่วมมือกับประเทศที่มีความชำนาญการด้านพลังงานจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายในด้านพลังงาน" นายสมัคร กล่าว
ประเทศไทยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างประเทศ โดยผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ ของภูมิภาค ESCAP สามารถเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ฝึก อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
"แรงขับในการพัฒนาของภูมิภาคต้องการความเห็นพ้องอย่างแข็งขันจากพวกเราทุกคน พร้อมทั้งแรงสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ไทยยินดีกับบทบาทของ ESCAP ในการสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งและเป็นแรงผลักดันสำหรับการกินดีอยู่ดีของประชากรในภูมิภาคนี้ ขอให้วางใจว่าประเทศไทยซึ่งมีประชาธิปไตยและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งจะยังคงเป็นส่วนสนับสนุนที่มีพลวัตรสำหรับ ESCAP เฉกเช่นสมาชิกอื่นๆ" นายสมัคร กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ธนวัฏ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--