ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 25-26 ก.ค. นี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 21 ปี หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณผ่าน Fed Dot Plot ในการประชุม FOMC เดือนมิ.ย. ว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย. 2566 ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.0%YoY แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ 2.0% อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมิ.ย. 2566 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 4.8%YoY เช่นเดียวกับดัชนีราคาพื้นฐานจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Core PCE) ที่เฟดให้ความสำคัญนั้นยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 4.6%YoY ในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เป้าหมายของเฟดในการควบคุมเงินเฟ้อนั้นยังไม่เสร็จสิ้น
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาล่าสุด แม้จะเริ่มส่งสัญญาณลดความร้อนแรงลง แต่ตลาดแรงงานยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ที่แล้ว (9-15 ก.ค. 2566) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 228,000 ราย ขณะที่อัตราว่างงานของสหรัฐฯ ก็ทรงตัวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 3.6% ในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ อัตราค่าแรงรายชั่วโมงยังคงปรับเพิ่มขึ้นที่ 4.4%YoY
"ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงค่อนข้างตึงตัว ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เฟดยังเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในการประชุมที่จะถึงนี้ ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่เฟดอาจนำพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปสู่ Soft Landing หรือการที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยนั้นมีมากขึ้น" บทวิเคราะห์ระบุ
อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้ อาจเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีทิศทางชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย. 2566 อยู่ที่ 3.0%YoY ซึ่งลดลงอย่างรวดเร็วจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 4.0%YoY เมื่อมองไปข้างหน้าเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่องมาเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของเฟดที่ 2.0%
ขณะที่ แม้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะยังค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่ตัวเลขจ้างงานก็เริ่มส่งสัญญาณลดความร้อนแรงลง โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงที่ 209,000 ตำแหน่ง ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ธ.ค. 2563
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวขึ้น คาดว่าจะทยอยส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไป โดยยังคงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสถัดๆ ไปอาจชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ตลาดส่วนใหญ่มองว่าเฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. 2566 นี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะหากเงินเฟ้อพื้นฐาน และค่าแรงไม่ปรับลดลงเร็ว และหากตลาดแรงงานยังไม่ลดความร้อนแรงลงเท่าที่ควร