นายกฤษณ์ เสสะเวช รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ว่า หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รายได้ของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ประชาชนเริ่มกลับมาตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ส่งผลให้ ณ วันที่ 30 มิ.ย.66 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 89,030 บัญชี วงเงิน 111,796 ล้านบาท คิดเป็น 47.48% ของเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ ปี 2566 ที่ 235,480 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นสินเชื่อปล่อยใหม่สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง วงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 49,908 ราย
ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2565 ธอส. มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1.64 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.65% มีสินทรัพย์รวม 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.97% เงินฝากรวม 1.44 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.27% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 70,045 ล้านบาท หรืออยู่ที่ 4.27% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.53 % จากสิ้นปี 2565 ที่มี NPL อยู่ที่ 3.74% ของยอดสินเชื่อรวม
อย่างไรก็ตาม ธอส. ได้มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 138,452 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 197.66% สะท้อนความมั่นคงและความพร้อมในการเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนในอนาคต สำหรับกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,534 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 15.29% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
"การที่ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลาย ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง อาทิ โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 ที่ยังคงได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่เพียง 3% ต่อปี นานถึง 5 ปีแรก" นายกฤษณ์ กล่าว
โดยล่าสุด ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 มีลูกค้ามายื่นขอสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 แล้ว 7,700 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 8,021 ล้านบาท และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 6,882 ราย วงเงินสินเชื่อ 6,895 ล้านบาท โดยผู้ที่สนใจสามารถขอรหัสเข้าร่วมโครงการได้ ผ่าน Mobile Application : GHB ALL GEN โดยจะได้รับรหัส 10 หลัก (ตัวอักษร 3 หลัก และตัวเลข 7 หลัก) เพื่อนำมาประกอบการยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 30 ธ.ค.68 หรือปิดก่อนกำหนด หากเต็มกรอบวงเงินโครงการ
"เชื่อว่า ธอส.จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีที่ 235,480 ล้านบาท เนื่องจากโครงการที่อยู่อาศัย จะมีการส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงท้ายของปีเป็นจำนวนมาก ประกอบกับยังมีมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลถึงวันที่ 31 ธ.ค.66 อาทิ ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จากอัตราปกติ 2% เหลือ 1% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนอง จากอัตราปกติ 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท" นายกฤษณ์ กล่าว
ส่วนการดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 นั้น ธอส.ได้ดำเนินการขยายเวลาลงทะเบียนมาตรการ 23 [M23] : สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือลูกค้าที่มีสถานะเป็น NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการช่วยเหลือหรืออยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคาร ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
โดยลูกค้าที่เข้าร่วม M23 สามารถเลือกรับความช่วยเหลือตามความสามารถในการผ่อนชำระได้นานสูงสุด 2 ปี สำหรับลูกค้าที่มีความประสงค์เข้าร่วม M23 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ พร้อมทั้ง Upload เอกสารให้ธนาคารพิจารณาผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND ได้ถึงวันที่ 30 ธ.ค.66
นายกฤษณ์ ยังกล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในอนาคตด้วยว่า ธอส.มุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน (The Best Housing & Sustainable Bank) โดย ธอส. มีแผนในการระดมทุนผ่านพันธบัตรด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ประกอบด้วย พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) พันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) เพื่อนำมาสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สามารถประหยัดการใช้พลังงาน หรือลดการใช้พลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รวมถึงการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อย ในโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้มากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านอยู่เย็นเป็นสุข และโครงการบ้าน ธอส.เพื่อคุณ ซึ่งที่ผ่านมา ธอส. ได้ออกและเสนอขายพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มูลค่า 8,500 ล้านบาท และพันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) มูลค่า 4,000 ล้านบาท โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ดังนั้นในอนาคต ธอส. จึงมีแผนในการออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน (ESG Bond) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ ธอส. เป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืนอย่างครบวงจร
นายกฤษณ์ กล่าวว่า ธอส. ยังคงเดินหน้าสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดด้านดิจิทัลให้กับลูกค้า (Best Digital Experience) ตลอดเส้นทางการใช้บริการของลูกค้า (End-to-End Customer Journey) ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และปรับปรุงกระบวนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารแบบครบวงจร ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. การปล่อยสินเชื่อ อาทิ การยื่นขอสินเชื่อผ่าน Application : GHB ALL GEN, การวิเคราะห์และประเมินวงเงินสินเชื่อผ่าน Digital Appraisal และการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารกับลูกค้า ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) เป็นต้น
2. การให้บริการด้านเงินฝาก พัฒนาฟังก์ชันและผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์เงินฝากดิจิทัล, บริการ GHB Corporate อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้านิติบุคคลให้เข้าถึงข้อมูลบัญชีเงินฝากง่ายขึ้นผ่านเว็บไซต์ธนาคาร เป็นต้น
3. การประนอมหนี้ผ่าน Application : GHB ALL BFRIEND ตั้งแต่การปรับโครงสร้างหนี้ ไปจนถึงการชำระเงินงวดตามข้อตกลง
4. การจำหน่ายบ้านมือสอง ธอส. ผ่าน Application : GHB ALL HOME และเว็บไซต์ www.ghbhomecenter.com ตั้งแต่กระบวนการดูทรัพย์ จองซื้อทรัพย์ ทำสัญญาจะซื้อจะขาย การขอสินเชื่อ และการโอนกรรมสิทธิ์
นอกจากนี้ ธอส. จะยังคงเดินหน้าพัฒนาการบริการให้กับลูกค้าผ่าน Mobile Application : GHB ALL GEN ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย รวมทั้งเพิ่มฟังก์ชันการให้บริการ อาทิ การขอสินเชื่อเพิ่ม, การลงนามทำสัญญาซื้อขายบ้านมือสอง ธอส. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (NPA e-Contract), การขอรับเงินงวด/ การปลูกสร้าง/ต่อเติม, การขอหนังสือรับรองฐานะการเงินเพื่อประกอบการขอวีซ่า และการเชื่อมข้อมูลระหว่าง GHB ALL GEN กับ Application Line GHB Buddy เพื่อความสะดวกในการใช้บริการของลูกค้า เป็นต้น