นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) หนึ่งในผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่ถูกนำรูปภาพและชื่อบริษัทไปใช้ในเพจปลอมเพื่อหลอกลวงให้ประชาชนมาลงทุน กล่าวภายหลังงานแถลงข่าวโครงการ "ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน" พร้อมรับฟังเสวนา "รู้ทันหลอกลงทุน ด้วยภูมิคุ้มกันความลวง"ว่า คนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเป็นแฟนคลับที่ติดตามผลงานผ่านหนังสือ และการออกสื่อ ทำให้เป็นช่องว่างของกลุ่มมิจฉาชีพนำไปสร้างเพจเพื่อหลอกลวง
"ผมเปรียบเสมือนเป็นผู้ต้องหาที่ทำให้เกิดผลกระทบกับแฟนคลับและประชาชน ซึ่งกลุ่มอมตะ ไม่เคยนิ่งนอนใจ ดำเนินการหาคนกระทำผิดมาโดยตลอด แต่ดูเหมือนว่า ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย คงทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องเกิดการขับเคลื่อนโดยทุกฝ่าย โดยเฉพาะเอาจริงเอาจัง ด้านกฎหมาย และอาจต้องขยายผลความร่วมมือไปยัง ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปราบปราม อาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นประเทศต้นกำเนิดของการเกิดกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง ไม่ว่าจะเป็นจีน และ ไต้หวัน"
ลักษณะของการลงทุนของมิจฉาชีพพยายามสร้างแรงดึงดูด จูงใจ ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 3-7% ต่อสัปดาห์ ยืนยันได้ว่าไม่มีรูปแบบการลงทุนใด ๆ ให้ผลตอบแทนได้สูงขนาดนั้น อย่างไรก็ตามการหลอกลวงให้เกิดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่ายังไม่สามารถให้ความรู้ได้ในวงกว้าง โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุน หรือความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เมื่อเห็นการเชิญชวนแบบน่าเชื่อถือ ก็อาจมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในวงกว้างมากขึ้น
สำหรับความร่วมมือของหลายองค์กรที่ร่วมกันในการขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ที่หลอกลวงให้เกิดการลงทุน และสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวกลุ่มอมตะได้ดำเนินการทางกฎหมายมากว่า 1 ปี ที่สามารถจับกุมคนร้ายได้กว่า 50 ราย ในปีที่ผ่านมา และล่าสุดสามารถจับกุมได้ 9 ราย มีหลบหนีอีก 3 ราย เป็นรูปแบบการจัดทำสื่อขึ้นเอง โดยนำรูปของตนเอง และเครื่องหมายของบริษัทอมตะไปสร้างความน่าเชื่อถือ ให้เกิดการลงทุน แม้ว่าจะมีการสื่อสารและให้ข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง ย้ำถึงแนวทางการลงทุนในกลุ่มอมตะ ต้องผ่านกลไกการลงทุน จากตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ไม่มีการเชิญชวนให้ลงทุนโดยส่วนตัวในทุกกรณี