นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) กล่าวถึงความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า ต้องการให้ยึดหลักการขับเคลื่อนเศษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรก เพื่อเร่งแก้ปัญหาปากท้อง ให้คนไทยกินดีอยู่ดี และผลักดันการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) โตขึ้น 5-7% ในระยะเวลา 2-3 ปีนี้ เพื่อลดปัญหาทางสังคมของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งอาชญกรรม และคนจนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนตัวอย่างจากหลายประเทศ เช่น จีนและ อินโดนีเซีย ที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตเฉลี่ย 9% มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ดี จำนวนคนจนลดลง จากอดีตที่เคยมีคนจนสูงที่สุดในโลก
"ผมคาดหวัง ว่ารัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศ จะต้องมองเรื่องปากท้องเป็นเรื่องใหญ่ และสิ่งที่ต้องตามมา คือเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว โดยต้องสนับสนุนอุตสาหกรรม การลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเน้นการพัฒนาที่มีเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่นำไปสู่การสร้างความยั่งยืน ซึ่งวันนี้เราไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง รายได้ต่อหัวจึงไม่สูงขึ้น หากเทียบจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่ได้เม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ยอมรับว่า มีผลต่อการตัดสินใจการลงทุน จากกลุ่มลูกค้าอมตะที่ชะลอการตัดสินใจการลงทุนในขณะนี้บางส่วนเนื่องจากมีความกังวลเรื่องของการชุมนุมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ จากประสบการณ์ที่นักลงทุนเคยเผชิญมาก่อนในไทยเมื่อ 9-10 ปีที่ผ่านมา เพราะมองว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งของคนในประเทศ ที่จะอาจจะส่งผลต่อการประท้วง และขยายความรุนแรงหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่นักลงทุนเป็นห่วงว่าจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ จึงมีการประเมินสถานการณ์การลงทุนอีกครั้ง
ส่วนเรื่องกรณีที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่มีนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท มองว่าประเด็นดังกล่าว ไม่ควรต้องใช้ประชานิยม แต่การปรับขึ้นค่าแรง ต้องมีเหตุ และผลในการเพิ่มค่าแรง ซึ่งเห็นด้วยว่า ค่าแรงงานไทยไม่สูง แต่การปรับขึ้นจำเป็นต้องเป็นขั้นเป็นตอน เช่น มาตรฐานการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยต้องพิจารณาจากดัชนีเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ มีผลต่อการเพิ่มค่าแรงได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานจำนวนมาก การปรับขึ้นจะต้อง ALL WIN ที่ทุกฝ่ายต้องได้รับประโยชน์ หากผู้ประกอบการได้รับกระทบ และต้องปิดตัวลง แรงงานได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมีการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้