นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดในงานสัมมนา "ESG Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก" ว่า ประเทศไทยได้ผ่านจุดที่ต้องตั้งคำถามถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการทำธุรกิจที่คำนึงถึง ESG โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มีผลกระทบและเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ภาวะโลกร้อน และภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับเกือบรั้งท้ายของการจัดอันดับประเทศที่มีขีดความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 จากทั้งหมด 48 ประเทศ คาดว่าหากประเทศไทยไม่ทำอะไรเลย จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลถึง 43% ของจีดีพี ภายในปี 2593 ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยต้องมีความรวดเร็วในการเดินหน้าผลักดันด้าน ESG มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านของสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืน
นายรณดล ชี้ว่า ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากต่างประเทศในเรื่องของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงแนวปฏิบัติของบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ที่มุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อม เช่น ในวันที่ 1 ต.ค. 66 สหภาพยุโรปเตรียมที่จะเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน ส่งผลให้สินค้าของไทยที่ได้รับผลกระทบ เช่น ซีเมนต์ เหล็กกล้า และปุ๋ย ที่มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท/ปี และมีผู้ประกอบการกว่า 1,000 ราย อาจจะได้รับผลกระทบ และเชื่อว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมบังคับใช้เพิ่มเติมอีก
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาป ได้เริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และภาคท่องเที่ยวต่างๆ ที่ไม่ได้มองถึงเฉพาะการดูแลสุขภาพของคนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ทำให้ประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมที่แนวคิดใหม่
นายรณดล กล่าวว่า สำหรับ ธปท.ได้มีการกำหนดนโบายบายเรื่อง ESG มานานแล้ว และผลักดันมาโดยตลอด เช่น นโยบายทางสังคม ที่มีการออกนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนมาต่อเนื่อง นโยบายธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน ที่ได้เน้นการกำกับเรื่องการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม ส่วนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันการเงินถือเป็นตัวกลางในการสนับสนุนการปรับตัวของสถาบันการเงินให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
"นโยบายที่แบงก์ชาติผลักดัน และออกมา จะต้องไม่ช้าเกินไปจนไม่ทันเทรนด์โลก แต่ต้องไม่เร็วเกินไป ให้ปรับตัวทัน และเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นายรณดล กล่าว
ทั้งนี้ การผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมของ ธปท.ได้ผลักดันผ่านรากฐานสำคัญ 5 ด้าน โดยเริ่มดำเนินการไปแล้ว 2 ด้าน คือ การปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มไปเมื่อเดือนส.ค. 65 และโครงการ Thailand taxonomy หรือการกำหนดนิยามธุรกิจคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เริ่มไปเมื่อมิ.ย.66 นับว่ามีสัญญาณที่ดีมาจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ได้เริ่มมีการคำนวณเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปในความเสี่ยงธุรกิจ และความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ประกอบกับการเป็นเป้าหมายทำให้เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียวมากขึ้นในประเทศไทย
สำหรับอีก 3 ด้าน ที่ยังต้องเดินหน้าผลักดันในระยะต่อไป ได้แก่ การร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม และการยกระดับองค์ความรู้ด้านการเงิน ซึ่งจะมีการเดินหน้าผลักดันให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง