สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2566 มาอยู่ที่ 3.5% ลดลงเล็กน้อยจากเดิมที่คาดไว้ 3.6% โดยสาเหตุที่ปรับ GDP ลดลง มาจากสมมติฐานรายได้ท่องเที่ยวที่ปรับลดลงมาที่ 1.25 ล้านล้านบาท จากเดิม 1.3 ล้านล้านบาท เนื่องจากโครงสร้างนักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อรายได้ท่องเที่ยวในภาพรวม
"นักท่องเที่ยวจีนยังมาไม่มากเท่าที่มองไว้ แต่กลายเป็นนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เข้ามามากแทน ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวมาเลย์ไม่สูงเท่าของจีน ทำให้ภาพรวม คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้จะลดลงจากเดิมราว 5 หมื่นล้านบาท คือเหลือ 1.25 ล้านล้านบาท จากประมาณการรอบก่อนที่ 1.3 ล้านล้านบาท ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี ยังคาดไว้เท่าเดิมที่ 29.5 ล้านคน"
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องการส่งออกสินค้าที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าในปี 2566 ภาพรวมการส่งออกของไทยจะหดตัว 0.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะหดตัว 0.5% จากการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกันตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1/66 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประกาศว่าขยายตัวที่ 2.7% นั้น ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เหล่านี้เป็นปัจจัยรวมที่ทำให้คลังมีการปรับจีดีพีในปีนี้ลดลงเหลือ 3.5%
ส่วนปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า ยังมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และมีการลงทุนภาครัฐเข้ามาช่วยประคองเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียที่เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 29.5 ล้านคน เติบโต 164.2% ต่อปี และการบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.5% ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้และแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คลี่คลายลง โดยปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 1.7% เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้คลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ตลอดจนการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้นตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม ไปจนถึงการลงทุนภาครัฐที่ยังมีส่วนช่วยประคอง
สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุล ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.8% ของ GDP
สมมติฐานสำคัญที่ใช้ในการประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 66 มีดังนี้
1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 15 ประเทศคู่ค้าหลัก คาดว่าปีนี้ GDP ของ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทย จะขยายตัวได้ 2.8% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน แต่แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้น ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง ราคาอาหารและราคาพลังงานโลกเริ่มปรับเข้าสู่สมดุล อัตราเงินเฟ้อลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่ยังต้องติดตามการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
2. อัตราแลกเปลี่ยน คาดว่า ณ สิ้นปีเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 34.01 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 3% จากปี 65 โดยเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากแรงหนุนด้านการท่องเที่ยวที่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างสม่ำเสมอ หนุนกิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดเกิดใหม่
อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่อาจจะมีผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาทในระยะถัดไป คือ นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับอัตราดอกเบี้ย, เศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่, ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่ทำให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และทำให้มีเงินไหลออกจากตลาดเอเชียไปสู่ตลาดฝั่งสหรัฐและยุโรป
3. ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ คาดว่าทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 79 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 17.2% จากในปี 65 สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ได้แก่ กำลังการผลิตน้ำมันของตลาดโลก ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนที่อาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และแรงกดดันทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน เป็นต้น
4. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าไทย 29.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 164.2% ในขณะที่คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 1.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 243.8% ส่วนค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป อยู่ที่ 42,545 บาท เพิ่มขึ้น 30.1%
5. รายจ่ายภาคสาธารณะ งบประมาณรายจ่ายปี 66 ที่ 3.18 ล้านล้านบาท คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่าย 94.3% แบ่งเป็น การเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำ 2.5 ล้านล้านบาท, เบิกจ่ายงบลงทุน 4.6 แสนล้านบาท, เบิกจ่ายงบเหลื่อมปี 1.8 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 2.6 แสนล้านบาท
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 มองว่า หากนักท่องเที่ยวจีนมาตามนัด ก็จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นกับผู้ประกอบการสายการบิน พบว่า มีการขยายเส้นทางการบินไปจีนเพิ่มขึ้น 100% ทั้งความถี่ต่อสัปดาห์ จาก 17 เที่ยวบิน เป็น 35 เที่ยวบิน รวมถึงขยายเมืองเพิ่มขึ้นด้วย เป็นตัวสะท้อนว่านักท่องเที่ยวจีนจะยังเดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะไม่เร็วนัก ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2566 คงต้องรอประกาศจากทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีดังนี้
1) ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศหลัก ๆ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย
2) สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ
3) สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจจีน
4) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก และการค้าระหว่างประเทศ
นายพรชัย กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ล่าช้าถึง 9 เดือน คาดว่าจะส่งผลกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจราว -0.07% จากกรณีฐาน จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจ -0.05% หากมีการตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า 6 เดือน ซึ่งหากเหตุการณ์เป็นไปในลักษณะดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง เพื่อกำหนดแนวนโยบายเกี่ยวกับการใช้งบประมาณเก่าที่เดิมได้มีการวางแผนใช้ไปพลางก่อน เพราะก่อนหน้านี้สำนักงบประมาณได้ออกหลักเกณฑ์ในการใช้งบเก่าไปพลางก่อนไว้สำหรับกรณีล่าช้า 6 เดือนเท่านั้น ดังนั้นหากหลัง 1 ต.ค. สถานการณ์ยังไม่ชัดเจน สำนักงบประมาณก็ต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติม
"เราคาดการณ์ไว้ว่าจะมีการใช้งบประมาณปี 2567 ล่าช้าราว 6 เดือน ซึ่งมีส่วนกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจราว -0.05% จากความไม่ชัดเจนทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อมิติเรื่องรายจ่ายภาคสาธารณะเป็นหลัก ส่วนกรณีที่หากการเมืองล่าช้าเป็น 10 เดือนนั้น ยอมรับว่าเป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะยังไม่ได้คุยกับสำนักงบประมาณถึงจุดนั้น แต่หากดูตามข้อมูลเปรียบเทียบโดยเอาการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 จนถึงเดือนที่ 9 พบว่า มีการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำไปแล้ว 2.08 ล้านล้านบาท ขณะที่รายจ่ายลงทุน ในส่วนที่ได้ผูกพันไว้แล้ว เบิกจ่ายได้ 1.3 แสนล้านบาท ส่วนปีงบ 2567 ผูกพันไว้ 1.5 แสนล้านบาท หากดูตามภาพเปรียบเทียบนี้ ก็เชื่อว่าปีงบ 2567 น่าจะเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำ และงบลงทุน ผูกพันได้สูสีกัน เพราะการเบิกจ่ายภาครัฐยังทำได้ต่อเนื่อง ไม่ได้หยุดทำงาน ส่วนราชการทำงานเต็มที่ ดังนั้นแม้ว่าจะมีความล่าช้าของงบปี 2567 แต่ก็จะยังมีงบรายจ่ายประจำและงบลงทุน ที่ผูกพันที่ยังลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้" นายพรชัย กล่าว