นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤติราคาพลังงาน โดยสาเหตุหลักเกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคา LNG นำเข้ามีราคาสูงและค่อนข้างผันผวน และส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันติดตามและบริหารสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินทุกมาตรการที่สามารถทำได้ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ
โดยที่ผ่านมาได้ใช้ทั้งมาตรการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงจาก LNG เป็นน้ำมันดีเซลในกรณีที่น้ำมันดีเซลมีราคาถูกกว่า การกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นการชั่วคราว การเร่งการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย การบริหารจัดการเพื่อนำก๊าซที่ภาคปิโตรเคมีใช้ลดลงเข้าสู่ภาคไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการให้ กฟผ. ช่วยรับภาระด้านต้นทุนเชื่อเพลิงแทนประชาชนเป็นการชั่วคราว และการออกมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่า Ft ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย ซึ่งกระทรวงพลังงานยังคงติดตามและทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าปรับลดลงและบรรเทาผลกระทบกับประชาชนและผู้ประกอบการ
"ส่วนสถานการณ์ต้นทุนเชื้อเพลิงในรอบถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.) นั้น กระทรวงพลังงานประเมินว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากราคา LNG นำเข้าจากตลาดจรได้อ่อนตัวลง การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เสนอข้อคิดเห็นไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานถึงแนวทางที่อาจพิจารณาในการคำนวณค่า Ft ได้ อาทิ ผลประหยัดที่ได้จากส่วนต่างการประเมินราคาเชื้อเพลิงกับราคาที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในรอบการคำนวณ Ft ในปัจจุบัน และรอบแรกของปี 66 รวมถึงการบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คงค้างอย่างเหมาะสม" นายสมภพ กล่าว