จากเหตุการณ์การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย โดยเฉพาะจากทางยุโรปกว่า 10 ประเทศ อาทิ บราซิล สเปน อาร์เจนตินา และแคนาดา เป็นต้น ส่งผลให้ผู้เลี้ยงหมูได้รับผลกระทบทำราคาหมูตกต่ำ ปัจจุบันต้นทุนอยู่ที่ 80-90 บาท/กิโลกรัม แต่ราคาหน้าฟาร์มหมูเป็น ขายได้เพียง 50 บาท/กิโลกรัม เท่านั้น
น.สพ.วรวุฒิ ศิริปุณย์ รองเลขาธิการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องหมูเถื่อนกระทบผู้เลี้ยงหมูไทยมาก อยากให้ภาครัฐช่วยดูแลป้องกันการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน เร่งรัดในการปราบปราม จับกุม ลงโทษผู้กระทำความผิดที่นำเข้าหมูเถื่อนให้กลัวจนไม่กล้านำเข้ามาอีก ไม่เช่นนั้นผู้เลี้ยงหมูกว่าแสนรายในไทยก็จะหายไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ยังกระทบถึงอาชีพเกษตรกรที่ปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ด้วย
ในส่วนของหมูเถื่อนนั้น เป็นหมูที่มาจากต่างประเทศ เป็นหมูที่กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่อนุญาตให้นำเข้าชิ้นส่วนสุกรเข้าประเทศ ดังนั้น เนื้อหมูที่นำเข้าทั้งหมด กรมปศุสัตว์ไม่ได้ตรวจฟาร์ม หรือตรวจโรงเชือดของต่างประเทศ ทำให้ไม่รู้ว่ามาตรฐานของประเทศไทยและต่างประเทศต่างกันมากน้อยเท่าไร และในต่างประเทศมีโรคระบาดหรือไม่
"ส่วนใหญ่หมูเถื่อนที่นำเข้ามา ก็จะเป็นหมูเถื่อนที่ค้างสต็อกจากช่วงโควิด-19 สังเกตได้จากการจับเนื้อเถื่อนบางล็อต จะเป็นเนื้อเถื่อนหมดอายุแล้ว อาจมีเชื้อโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ที่มาจากการแช่แข็ง หรืออาจจะมีเชื้อโรคอื่นๆ ในสัตว์ เช่น หมูที่เกิด ASF ที่เขาชำแหละตัดแต่งแล้วส่งให้ประเทศอื่น ซึ่งก็จะเป็นอันตรายต่อประเทศเรา ถ้าชิ้นส่วนที่มีโรคระบาดเข้ามา ก็สร้างโรคระบาดให้ไทยอีก" น.สพ.วรวุฒิ กล่าว
ปัจจุบัน การระบาดของโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกันในหมู (ASF) ในไทยยังคงมีการแพร่ระบาดบ้าง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้เลี้ยงรายย่อยที่ไม่มีมาตรฐานในการเลี้ยง ไม่มีระบบป้องกันโรค แต่ฟาร์มส่วนใหญ่ที่มีมาตรฐานมีการป้องกันโรคได้หมดแล้ว
ในส่วนของโรคเพิร์ส (PRRS) เป็นโรคที่มีการระบาดในไทยมานานแล้ว และไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายให้ปริมาณหมูหายไปมากเท่ากับโรค ASF ทั้งนี้ เรื่องการจัดการควบคุมโรค และความเข้าใจเรื่องโรคระบาดของหมูในไทย ถือว่าครอบคลุมและสามารถป้องกันโรคได้ อย่างไรก็ดี โรค ASF ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคได้ แม้โรคจะเกิดมาถึง 60-70 ปี แล้ว
"ข่าวลือที่ว่าหมูไทยตายด้วยโรค ASF จนต้องนำเข้าหมูเถื่อนเข้ามานั้น เป็นสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นนานแล้ว ตั้งแต่ปี 63-64 แล้ว ตอนนั้นโดนผลกระทบจาก ASF จริงๆ หมูขาดและแพงแค่ระยะสั้นๆ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ส่วนหมูเถื่อนเข้ามาตั้งแต่ปี 64-66 และล่าสุดตอนนี้เข้ามาเยอะมาก ยืนยันว่าตอนนี้ผลผลิตหมูไม่เคยขาดแคลนเลย ไทยคุมโรค ASF อยู่" น.สพ.วรวุฒิ กล่าว
น.สพ.วรวุฒิ กล่าวว่า อีกปัญหาหลักของผู้เลี้ยงหมู คือ เรื่องต้นทุนสูง จากวัตถุดิบอาหารสัตว์ขึ้นราคา อาทิ ข้าวโพด มีการประกันราคา ขณะนี้ราคาที่ซื้อข้าวโพดจริงสูงกว่าราคาประกันไปมาก ซึ่งภาครัฐไม่ได้ช่วยดูแลเรื่องวัตถุดิบให้ผู้เลี้ยงหมู หรือเรียกได้ว่าช่วยไม่ตรงจุด ส่วนภาษีในการนำเข้ากากถั่วเหลือง ปัจจุบันเสียภาษี 2% แนะนำว่า ถ้าภาครัฐ หรือกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยเกษตรกร ต้องลดการนำเข้า ลดภาษี เพื่อให้ต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบถูกลง
"พอข้าวโพดราคาสูงเกินราคาประกันของภาครัฐ ไปเยอะๆ ก็ทำให้ผู้เลี้ยงมีต้นทุนในการซื้อข้าวโพดสูงขึ้น ดังนั้น ที่ผ่านมาภาครัฐกลัวเกษตรกรปลูกข้าวโพดขาดทุน ไม่มีกำไร อยู่ไม่ได้ เลยไปตั้งกฎเรื่องข้าวสาลีต่อข้าวโพด 3 ต่อ 1 เพื่อกันการซื้อข้าวสาลีมาใช้แทนข้าวโพดจากต่างประเทศ แต่ ณ ตอนนี้รัฐบาลควรยกเลิก 3 ต่อ 1 ชั่วคราว เพื่อให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารอื่นๆ มาแทนข้าวโพด ทำให้ต้นทุนการผลิตในการเลี้ยงสัตว์ถูกลง" น.สพ.วรวุฒิ กล่าว
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์หมูในครึ่งปีหลัง มองว่า ยังไม่มีปัจจัยบวกเลย หากรัฐยังไม่สามารถปราบหมูเถื่อน และช่วยเรื่องราคาวัตถุดิบให้เกษตรกรได้ จะทำให้เกษตรกรขาดทุนไปเรื่อยๆ จนถึงสิ้นปี ทั้งนี้ ขอฝากถึงรัฐบาลใหม่ ว่า อยากได้นโยบายที่ช่วยเกษตรกรเลี้ยงสุกร ดูแลการปราบปรามหมูเถื่อนให้จริงจัง ให้ไม่สามารถลักลอบนำเข้ามาขายได้อีก ดูเรื่องต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ให้เกษตรกร ต้นทุนภาษีไหนที่ลดได้ก็ควรลด
"ตอนนี้ผู้เลี้ยงหมูขายขาดทุนตัวละ 3,000-4,000 บาท ในระยะยาวก็ต้องแก้เรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพราะอาหารสัตว์เป็นต้นทุนในการผลิตถึง 70-80% อยู่แล้ว ถ้าแก้หมูเถื่อนได้ จะมีกำลังบริโภคเข้ามา แต่ในระยะยาวก็ต้องผลิตหมูให้ได้ต้นทุนต่ำก่อน แต่ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้ช่วยผู้เลี้ยงหมูแบบตรงจุดเท่าที่ควร" น.สพ.วรวุฒิ กล่าว