หนี้ครัวเรือนไทยปี 66 เฉลี่ย 5.5 แสนบาท พุ่งสูงในรอบ 15 ปี คาดพีคในปี 67

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 27, 2023 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หนี้ครัวเรือนไทยปี 66 เฉลี่ย 5.5 แสนบาท พุ่งสูงในรอบ 15 ปี คาดพีคในปี 67

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยปี 66 พบว่า คนไทยมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 559,400 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.5% ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นหนี้ในระบบประมาณ 80% และอีก 20% เป็นหนี้นอกระบบ โดยกลุ่มตัวอย่างยอมรับว่า สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนมาจากการขาดวินัยทางการเงิน รองลงมา รายรับไม่พอกับรายจ่าย วางแผนการลงทุนผิดพลาด และมีความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ

"หนี้ครัวเรือนมีโอกาสสูงขึ้น และวงเงินก่อหนี้ น่าจะพีคสุดในช่วงปี 67 ส่วนหนี้ครัวเรือนในปี 66 สูงสุดจากที่ทำการสำรวจมาในรอบ 15 ปี โดยมีผลพวงมาจาก trade war ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 62-63 ทำให้คนก่อหนี้มากขึ้น และเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น ต่อให้มีการเลือกตั้ง ความแน่นอนทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ชัด ทำให้เขาคาดว่าต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำไปจนถึงต้นปีหน้า" นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ภาพรวม มองว่าแม้หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันจะขึ้นไปแตะ 90% ของจีดีพี แต่แนวโน้มจีดีพีที่สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว และครัวเรือนไม่ตั้งใจจะก่อหนี้มากขึ้น อีกทั้งหนี้ที่ก่อก็เป็นหนี้ในระบบ จึงมองว่าหนี้ครัวเรือนไม่ใช่ปัญหารุนแรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาระดับบุคคค ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันการเงิน กำลังเร่งแก้ไขอยู่

นางอุมากมล สุนทรสุรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2566 ซึ่งเป็นการสำรวจทั่วประเทศ 1,300 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 17-21 ก.ค.66 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ จะตอบว่ามีรายได้เพียงพอน้อย-ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย (กลุ่มเพียงพอน้อย 14.8% กลุ่มเพียงพอน้อยมาก 36.9% และกลุ่มไม่เพียงพอ 33.5%) ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเกิดภาวะรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการ 1.กู้ยืมจากแหล่งต่างๆ (กดเงินสดจากบัตรเครดิต, กู้จากธนาคารพาณิชย์, กู้จากธนาคารเฉพาะกิจ) 2.ประหยัด/ลดค่าใช้จ่าย และ 3.หารายได้เพิ่ม

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างถึง 69.3% มองว่า ลักษณะการใช้จ่ายของตัวเองไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 60.5%ยอมรับว่ามีการใช้จ่ายเกินตัว ในขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 47.2% จะดึงเงินในอนาคตออกมาใช้ก่อน โดยเมื่อเปรียบเทียบหนี้กับรายได้ในปัจจุบัน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ถึง 54.7% เห็นว่าหนี้เพิ่ม มากกว่ารายได้เพิ่ม แต่หากให้ประเมินในอนาคต กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 60.4% ก็ยังคงเห็นว่าหนี้เพิ่ม มากกว่ารายได้เพิ่ม

เมื่อถามว่าในปัจจุบันครัวเรือนมีหนี้สินหรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือคิดเป็น 99.8% ตอบว่า มีหนี้สิน โดยมีเพียง 0.2% เท่านั้น ที่ตอบว่าไม่มีหนี้สิน ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้สูงสุด 3 อันดับแรก คือ หนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ และหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค

สำหรับการก่อหนี้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 65.6% มีเฉพาะหนี้ในระบบ รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 31.2% มีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ และกลุ่มตัวอย่าง 3.2% มีเฉพาะหนี้นอกระบบ ซึ่งหากคิดเป็นจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน จะอยู่ที่ 559,408 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.5% แยกเป็นหนี้ในระบบ 80.2% และหนี้นอกระบบ 19.8% คิดเป็นภาระการผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน 16,742 บาท แยกเป็น หนี้ในระบบ 12,012 บาท และนอกระบบ 4,712 บาท

สาเหตุของการเป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้น 5 อันดับแรก ตอบว่า 1.ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น 2.ซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น 3.รายได้ไม่พอกับรายจ่าย 4.ลงทุนในธุรกิจเพิ่มขึ้น 5.ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 75.6% ยอมรับว่าเคยผิดนัดชำระหนี้ หรือขาดการผ่อนชำระหนี้ เนื่องจากปัญหารายได้ลดลง เศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 24.4% ตอบว่าไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และเมื่อถามว่าในอนาคต 6 เดือน - 1 ปีข้างหน้ามีโอกาสจะประสบปัญหาการผ่อนชำระหนี้หรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างเพียง 16% ที่ตอบว่า มีโอกาสมากที่จะผิดนัดชำระหนี้ โดยให้เหตุผลว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น, ดอกเบี้ยสูงจนไม่สามารถผ่อนชำระได้ เศรษฐกิจไม่ดี มีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น และรายได้ลดลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.3% ตอบว่ามีโอกาสน้อยที่จะประสบปัญหาการผ่อนชำระหนี้

เมื่อถามถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ คือ รายได้ลดลง, เศรษฐกิจไม่ดี, ความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน, คู่แข่งทางธุรกิจมากขึ้น เป็นต้น ส่วนความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน คือ ขาดวินัยทางการเงิน, รายได้ไม่พอกับรายจ่าย, วางแผนการลงทุนผิดพลาด, ความรู้ทางการเงินไม่เพียงพอ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายไป สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น การหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, การให้ความรู้ในการบริหารหนี้, การให้ความรู้เรื่องการวางแผนการใช้จ่าย และการฝึกอบรมวิชาชีพ/เพิ่มทักษะในการประกอบอาชีพ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ