นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า การจัดตั้งรัฐบาลน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเห็นความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่จะใช้ขับเคลื่อนประเทศ ทำให้เกิดความมั่นใจต่อการกำหนดแผนการลงทุนในอนาคต และจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยคาดว่าหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในส.ค.หรือก.ย.นี้ เศรษฐกิจไทยปี 66 ก็มีโอกาสจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับ 3.5% "ศก.ไทยมีความเสี่ยง การส่งออกอาจติดลบมากขึ้นปีนี้ และปีหน้าการฟื้นตัวก็ยังไม่เด่นชัด หากมีรัฐบาลช้า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้า และมีผลต่อหนี้ครัวเรือนให้สูงขึ้นถ้าจีดีพีเพิ่มขึ้นน้อย" นายธนวรรธน์ ระบุ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวเป็นหลัก และเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหาอุปสรรคมาก หากเศรษฐกิจโลกไม่ซึมตัว เพราะเชื่อว่าทุกฝ่ายคงไม่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพิ่มไปมากกว่านี้ ขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะแกว่งตัวอยู่ในช่วง 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ท่ามกลางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ที่จะมีนโยบายดอกเบี้ยเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนัก
"เราเชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 หรือ 2 ของปีหน้า ส่วนการส่งออกไทยปีนี้ อาจจะ -1 ถึง -2% โดยการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกนำ การท่องเที่ยวปีนี้ มีโอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 28 ล้านคน ถ้าการเมืองนิ่ง ไม่มีเหตุชุมนุมประท้วง เรามองว่าปีนี้จะโตได้ 3.1-3.5% บวกลบเล็กน้อย" นายธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนปี 67 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโต 3-4% แต่ก็ต้องขึ้นกับว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไม่เกินเดือนก.ย.นี้ หรือไม่ เพราะถ้าล่าช้าไปมากกว่านี้ การจัดทำงบประมาณจะยิ่งลำบาก เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าขึ้นและเข้าสู่โหมดความเสี่ยง ซึ่งอาจจะได้เห็นจีดีพีโตใกล้ปีนี้ 3.1-3.5% หรืออาจโตต่ำกว่านี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าการเมืองมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น นายธนวรรธน์ คาดว่า ณ สิ้นปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2% แต่หากปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ก็อาจจะเห็นสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศไม่ให้ห่างกันมากนัก ช่วยในการป้องกันไม่ให้เงินไหลออก โดยถ้าเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีการฟื้นตัวอย่างเด่นชัด ก็คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในกลางปีหน้า
"ดอกเบี้ยไทย ปีนี้คงตรึงไว้ที่ 2% ถ้าปีหน้าเศรษฐกิจไทยฟื้น อาจได้เห็นสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อปิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับโลก ป้องกันไม่ให้เงินไหลออก เป็นการปิด gap ดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยโลก คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า เพราะกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้อย่างแข็งแกร่ง น่าจะเป็นกลางปีหน้าเป็นต้นไป" นายธนวรรธน์ ระบุ
ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย หลังจากที่หนี้ครัวเรือนเคยขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ระดับ 94.7% เมื่อปี 2564 แล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้ หนี้ครัวเรือนจะเริ่มสู่ช่วงขาลง เพียงแต่จะยังไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าอาจจะใช้เวลานับจากนี้ไปอีก 5 ปี ที่หนี้ครัวเรือนของไทย จะลงไปสู่ระดับ 80% ต่อจีดีพีได้ เนื่องจากนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำ ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจะทำให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ฐานการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจากการท่องเที่ยว กระจายลงไปตามฐานราก ซึ่งผลจากการท่องเที่ยวทำให้คนมีรายได้เร็วขึ้น ขณะที่ ธปท.มีการวางโครงสร้างการแก้หนี้อย่างยั่งยืน ประชาชนมีความรู้ทางการเงินมากขึ้น สามารถบริหารหนี้ครัวเรือนวางแผนทางการเงินได้ดีขึ้น ก็จะทำให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า มีโอกาสลงไปอยู่ที่ระดับ 80% ต่อจีดีพีได้
"5 ปีหลังจากนี้ หนี้ครัวเรือนมีโอกาสจะลงไปอยู่ที่ 80% ต่อจีดีพีได้ คนก่อหนี้น้อยลง ไม่ได้เป็นอัตราเร่ง ขณะที่จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น" นายธนวรรธน์ ระบุ