ภาวะตลาดเงินบาท: เย็นนี้ 34.09/11 ระหว่างวันแกว่งแคบ ตลาดรอปัจจัยใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 27, 2023 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเย็นนี้อยู่ที่ 34.09/11 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดตลาดเมื่อเช้าอยู่ที่ ระดับ 34.04 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 34.02 - 34.16 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยเงินบาทวันนี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่ เคลื่อนไหวตามแรงซื้อขายระหว่างวัน และยังย่อยข่าวเมื่อคืนนี้ ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ตามตลาดคาด ด้านสกุลเงินในภูมิภาควันนี้วิ่งในกรอบแคบเช่นเดียวกับเงินบาท

"บาทรับข่าวเมื่อคืน ซึ่งไม่ได้เหนือความคาดหมายตลาดอยู่แล้ว เรทเงินบาทเลยไม่ได้ตีกลับขึ้นมาแม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ ตาม ขณะเดียวกัน เฟดก็ไม่ได้พูดเชิงแข็งกร้าวเหมือนที่ผ่านมาว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่จะดูเป็นครั้งต่อครั้ง ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัว แล้วก็อาจไม่ปรับขึ้น แต่ถ้ายังพอขึ้นได้ก็ยังอยากขึ้นอยู่ ทำให้ตลาดมองว่าหลังจากนี้เฟดอาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้วหลังจากนี้ การขึ้นเมื่อวานนี้น่า จะเป็นรอบสุดท้ายของปี และปีหน้าน่าจะปรับดอกเบี้ยลง" นักบริหารเงิน กล่าว

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ต้องติดตามคืนนี้ คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/66, ยอดสั่ง ซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย., ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ส่วนวันพรุ่งนี้ ต้องติดตาม ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ

THAI BAHT SPOT RATE FIXING อยู่ที่ระดับ 34.4040 บาท/ดอลลาร์

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันจันทร์ไว้ที่ 33.90 - 34.20 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 139.94/96 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 139.76 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1134/1138 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1099 ดอลลาร์/ยูโร
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในส.ค. หรือ ก.ย. นี้ เศรษฐกิจไทยปี 66 ก็มี
โอกาสจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับ 3.5%
  • หอการค้าไทย ประเมินว่า จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มเติมในช่วงวันหยุดยาว 6 วัน ประมาณ 5-7 พันล้านบาท ขณะ
ที่แรงงานบางส่วนที่ยังต้องทำงานในช่วงวันดังกล่าว ก็จะได้รับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น จากกรณีประกาศเป็นวันหยุดเพิ่มเติม
  • สศอ. เตรียมหั่นคาดการณ์ MPI ภาคอุตสาหกรรม ปี 66 โดยฟันธงว่าจะติดลบ และต่ำกว่าปี 65 แน่นอน หลังเจอหลาย
ปัจจัยรุมเร้า ด้านดัชนี MPI มิ.ย. และดัชนี MPI ไตรมาส 2/66 หดตัว หลังส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมชะลอ จากเศรษฐกิจคู่ค้าอ่อนแอ
รายได้เกษตรลด ขณะที่ภาพรวม MPI ครึ่งปีแรก 66 หดตัว จากเศรษฐกิจโลกชะลอ
  • TTB ประเมินว่า สถานการณ์ส่งออกไปเวียดนามมีแรงกดดันมากขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าส่งออก จะชะลอตัวลงเหลือ 3.97-
4.02 แสนล้านบาท หรือลดลง 12.3-13.4%
  • ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เคาะลดค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 66 ส่งผลค่าไฟลดลงเหลือ
4.45 บาท/หน่วย
  • ส.อ.ท. เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll มองว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลัง
การเลือกตั้งเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 66 และทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน รวมถึงหากการ
ชุมนุมประท้วงทวีความรุนแรง จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ ที่ตอนนี้ต้องอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับ
เคลื่อน พร้อมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเทียบกับครึ่งปีแรก 66 ว่า ยังคงทรงตัวจากต้นปีจากปัจจัยทั้งในประเทศและ
ต่างประเทศ ที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจไทย
  • นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในการประชุมวัน
ที่ 2 ส.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย และจากนั้นจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวจนถึงปี 68 เนื่องจาก
แนวโน้มเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและไม่แน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ