ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 ยังมีความท้าทายสูง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปีนี้มีโอกาสจะฟื้นตัวได้ตามคาดที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังต่ำ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังกลับมาไม่เต็มที่ ทำให้การฟื้นตัวของบางจังหวัดท่องเที่ยวยังช้า
ขณะที่แรงส่งต่อเศรษฐกิจจากอุปสงค์ภายในประเทศ เผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้น จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยต่อคนยังต่ำกว่าปี 62 ภาคครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ และห่วงว่าเศรษฐกิจจะถดถอยมากกว่าประเทศอื่น ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับลดลง มีความกังวลต่อความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมือง การทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐ และการชะลอตัวของการส่งออก
"ที่ประชุม กกร.จึงมีความเป็นห่วง และต้องการเห็นการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่โดยเร็ว" นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร.ระบุ
อย่างไรก็ดี ในการประชุม กกร.รอบนี้ ที่ประชุมยังคงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 66 ไว้ตามเดิม โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะอยู่ที่ 3-3.5% การส่งออก หดตัว -2 ถึง 0% และเงินเฟ้อ 2.2-2.7%
พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กกร.ยังเห็นว่าปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นมากกว่าคาด เนื่องจากเมื่อพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ ณ เดือนก.ค.66 พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับวิกฤติ ทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตวันตก และภาคตะวันออก โดยประเมินว่าภัยแล้งปีนี้ อาจสร้างมูลค่าความเสียหายสูงถึง 5.3 หมื่นล้านบาท
"ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง และผลกระทบต่อภาคการเกษตรในช่วงปลายปี 66 จนถึงครึ่งแรกของปี 67"
ทั้งนี้ กกร. ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 โดยภาครัฐรับจัดทำ Water Balance ของแต่ละอ่างเก็บน้ำใหม่ และทบทวนแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า โดยเฉพาะอ่างฯ บางพระ อ่างฯ หนองปลาไหล และอ่างฯ ประแสร์ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบจากเอลนีโญ ที่มี cycle ยาวนานและผันผวนมากขึ้น นอกจากนี้ กกร. ได้นำเสนอให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นมาตรการสร้างความมั่นคงระยะยาวที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน และขอให้ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่ EEC และพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ การดำเนินการในพื้นที่ EEC (EEC sandbox) ที่มีกฎหมายเฉพาะพื้นที่ ต้องทำให้เป็นรูปธรรม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆของประเทศได้ต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและความรุนแรงของปัญหาหนี้บนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังพึ่งพาภาคเกษตร
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดหวังให้สถานการณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลมีความคืบหน้าเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ไม่เกิดการสะดุด เพราะมีปัญหาหลายเรื่องที่รอให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไข
"หากเลยเวลาไปไม่มากก็จะส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่หากล่าช้ามากจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย หวังว่าผลคดีในวันที่ 3 ส.ค.และการประชุมรัฐสภาในวันที่ 4 ส.ค.จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากวันที่ 4 ส.ค.มีความคืบหน้าก็จะปลดล็อกได้หลายเรื่อง" นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับโฉมหน้ารัฐบาลใหม่คงต้องพิจารณาในรายละเอียดเป็นรายกระทรวงไป แต่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งในระดับโลกและปัญหาภายในประเทศ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นต้องทำให้เกิดความต่อเนื่องในระยะยาว ไม่อยากให้เป็นเหมือนแค่การจุดปะทัด