นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า ตั้งแต่ ส.ค.65 กนง. ได้ทยอยถอนคันเร่งการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาระยะหนึ่งแล้ว และขณะนี้อัตราดอกเบี้ยได้เริ่มเข้าใกล้จุด Neutral rate มากขึ้น (จุดที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ติดลบ) ซึ่งเราเข้าใกล้จุด "ถอนคันเร่งเกือบหมด" มากขึ้นแล้ว
"เมื่อมองไปข้างหน้า การขึ้นดอกเบี้ยจะไปหยุดตรงที่ไหนนั้น เห็นว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นเข้าสู่ระดับที่มีศักยภาพ ไม่ได้เกินศักยภาพหรือเป็นเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเหมือนสหรัฐ ขณะที่เงินเฟ้อก็เริ่มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ดังนั้น กนง.มองว่าอัตราดอกเบี้ยควรจะขึ้นไปสู่จุดที่ควรจะเป็น ส่วนผลกระทบในระยะปานกลางนั้น จะมีบทบาทมากขึ้นและเป็นปัจจัยที่ กนง.จะคำนึงถึงมากขึ้น" นายปิติ ระบุ
พร้อมมองว่า ขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนในระยะสั้นอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเศรษฐกิจโลก ปัจจัยความไม่แน่นอนในประเทศ การที่ กนง.รอบหน้า (27 ก.ย.) จะตัดสินใจอย่างไรนั้น คงต้องรอดูความชัดเจนของเศรษฐกิจในช่วงนี้มากขึ้น อาศัยข้อมูลในช่วงนี้เข้ามาช่วยเสริมมุมมองในระยะข้างหน้า และคำนึงถึงปัจจัยระยะกลาง และระยะยาวที่จะมีบทบาทในการช่วยพิจารณามากขึ้น
"การที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง เริ่มเข้าโซนบวก เริ่มเข้าใกล้ Neutral Zone เราต้องให้แน่ใจว่าภาระการเงินจะสอดคล้องกับเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น ต้องรอดูข้อมูลเศรษฐกิจระยะยาว ว่าจะต้องปรับอะไรเพิ่มเติมหรือไม่...การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่เข้าใกล้จุดเปลี่ยน เป็นปกติที่จะต้องดูข้อมูลให้มากขึ้น และใช้วิจารณญาณมากขึ้น เรายังไม่ได้ปักหมุดว่ารอบหน้า (ประชุม กนง.) จะเป็นอย่างไร" นายปิติ ระบุ
อย่างไรก็ดี จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ไม่ได้สร้างเซอร์ไพรสให้กับตลาด เพราะน่าจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ ดังนั้นคาดว่าธนาคารพาณิชย์ก็คงจะส่งผ่านต้นทุนไปยังลูกค้าของธนาคารบ้างตามที่ควรจะเป็นเหมือนกับที่ผ่านมา
นายปิติ กล่าวด้วยว่า ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง กนง.ได้พิจารณาปัจจัยนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีผลต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง กนง.ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งดูแลภาพรวมเศรษฐกิจให้อยู่ในแนวโน้มที่สอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจระยะปานกลาง
ทั้งนี้ เห็นว่าเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเฉพาะ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ธปท.ได้มีมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเฉพาะจุดมากขึ้น เพราะหนี้ครัวเรือน ไม่ได้เป็นปัญหาที่แก้ได้ด้วยการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยตรง
สำหรับสถานการณ์ทางเมืองล่าสุด ที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจถอนตัวจาก MOU ของ 8 พรรคร่วม และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่มีพรรคก้าวไกลนั้น นายปิติ กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นข้อต่อแรกของนโยบายภาครัฐ ซึ่งในขณะนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลอยู่
ทั้งนี้ ประเมินว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจนนี้ ส่งผลให้กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 จะต้องล่าช้าออกไปจากปกติ 2 ไตรมาส คือ จะเริ่มต้นได้ราวไตรมาส 1 ปี 67 อย่างไรก็ดี จะไม่กระทบกับการเบิกงบรายจ่ายประจำ แต่จะไปกระทบในส่วนของงบลงทุนภาครัฐที่อาจต้องชะลอโครงการใหม่ๆ ออกไป รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่กระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น
"หากความไม่แน่นอนยังทอดยาว ก็จะไม่ส่งผลดีต่อการลงทุน กิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะทุกคนต่างหวังว่าจะดำเนินกระบวนการนี้ (การจัดตั้งรัฐบาล) ไปอย่างรวดเร็ว" นายปิติ ระบุ