นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนเกี่ยวกับวันแม่ โดยเป็นการสำรวจระหว่างวันที่ 2-5 ส.ค.66 กลุ่มตัวอย่าง 1,250 คนทั่วประเทศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 60.9% ตอบว่าจะไปพบแม่ในช่วงวันแม่ ขณะที่อีก 39.1% ตอบว่าไม่ได้ไป ทั้งนี้ กิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างวางแผนในช่วงวันแม่ปีนี้ อันดับ 1 คือ พาแม่ไปทานข้าว อันดับ 2 ทำกิจกรรมร่วมกัน อันดับ 3 พาแม่ไปทำบุญ อันดับ 4 พาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัด (ค้างคืน) อันดับ 5 พาแม่ไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
ส่วนของขวัญยอดนิยมที่ตั้งใจจะซื้อให้ในวันแม่ พบว่า อันดับ 1 คือ พวงมาลัย-ดอกไม้ อันดับ 2 ให้เงินสด-ทองคำ อันดับ 3 เครื่องนุ่งห่ม-รองเท้า อันดับ 4 เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย อันดับ 5 เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนการวางแผนพาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัด ในช่วงวันหยุด 12-14 ส.ค.นี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 84.8% ตอบว่าไม่พาไป และอีก 15.2% ตอบว่าพาไป โดยจังหวัดที่ได้รับความนิยม ได้แก่ นครราชสีมา, ขอนแก่น, ราชบุรี, ชลบุรี, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, สุราษฎร์ธานี และตราด เป็นต้น
สำหรับงบประมาณการใช้จ่ายในช่วงวันแม่ปี 66 เมื่อเทียบกับปีก่อน จะพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 42.7% ตอบว่างบประมาณไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 36.8% ตอบว่า งบประมาณลดลง เนื่องจากต้องประหยัดมากขึ้น มีภาระเพิ่มขึ้น เป็นหนี้มากขึ้น และเศรษฐกิจยังไม่ดี ส่วนกลุ่มตัวอย่างอีก 20.6% ตอบว่ามีงบประมาณใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นวันพิเศษ, คาดว่าเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น
โดยภาพรวม คาดว่าช่วงวันแม่ปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดราว 10,600 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 2.3% จากปี 65 โดยในจำนวนนี้ แยกเป็นเม็ดเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการพาแม่เที่ยว 740 ล้านบาท และเป็นค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ ราว 9,800 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เม็ดเงิน 10,600 ล้านบาท ที่คาดว่าจะสะพัดในช่วงวันแม่ปีนี้ ปรับลดลง 2.3% จากวันแม่ปีก่อน ซึ่งเป็นการติดลบในช่วงที่สถานการณ์ปกติ ต่างจากการติดลบในช่วงปี 63 ที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น ทำให้เห็นว่าประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเพิ่งผ่านช่วงวันหยุดยาว 6 วัน ในช่วงปลายเดือนก.ค.ต่อเนื่องถึงต้นเดือนส.ค.มาไม่นาน
"การใช้จ่ายวันแม่ปีนี้ ยังคึกคักใกล้เคียงปีก่อน เพียงแต่ประชาชนระมัดระวังการใช้สอยมากขึ้น เม็ดเงินที่ลดลงในปีนี้ อาจเป็นเพราะเพิ่งผ่านช่วงวันหยุดยาว 6 วัน ซึ่งอาจจะมีการทำกิจกรรมหรือมีการใช้จ่ายในช่วงนั้นไปแล้ว" นายธนวรรธน์ ระบุ
อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 52 พบว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงวันแม่ปี 66 นี้ เป็นครั้งที่ 2 ที่เม็ดเงินสะพัดลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยครั้งแรก เกิดขึ้นในปี 63 ที่เริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้วันแม่ในปี 63 เม็ดเงินในการใช้จ่ายลดลงถึง 28% จากปี 62