การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ แนวคิดเบื้องต้น แนวเส้นทางเลือก รูปแบบเบื้องต้น กระบวนการ ขั้นตอน และแผนการดำเนินงาน ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และได้มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ต่อไป
เหตุผลความจำเป็นของโครงการ คือ เกาะสมุยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ "การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้" แต่ในปัจจุบันการเดินทางมายังเกาะสมุยสามารถเดินทางได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุยมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการมีทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้
กทพ. จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ระยะเวลา 720 วัน (24 เดือน) เมื่อแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2571 และเปิดให้บริการปลายปี 2575
ในเบื้องต้น จุดเริ่มต้นโครงการฝั่งแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี แห่งที่ 2 บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่วนบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา แห่งที่ 2 บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด ทั้งนี้ มีแนวเส้นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้เชื่อมต่อจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด จำนวน 7 แนวทางเลือก