ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.ค. ดีขึ้นทุกภาค จากท่องเที่ยว-จ้างงานหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 11, 2023 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.ค. ดีขึ้นทุกภาค จากท่องเที่ยว-จ้างงานหนุน

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนก.ค. 66 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 ก.ค. 66 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.2 ในเดือนมิ.ย. 66

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54.3
  • ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 56.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.6
  • ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 58.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 57.8
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54.6
  • ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.1
  • ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 53.9
ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.ค. ดีขึ้นทุกภาค จากท่องเที่ยว-จ้างงานหนุน

ปัจจัยบวก ได้แก่

1. จำนวนนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มทยอยกลับเข้ามายังประเทศไทย

2. SET Index เดือน ก.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 52.96 จุด จาก 1,503.10 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 66 เป็น 1,556.06 ณ สิ้นเดือน ก.ค. 66

3. ภาคธุรกิจเริ่มฟื้นตัว บางส่วนสามารถขยายการลงทุน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราการว่างงานลดลง

4. ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนที่ผ่านมา

5. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 34.932 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 66 เป็น 34.627 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 66 สะท้อนว่ามีการไหลเข้าสุทธิของเงินตราต่างประเทศ

6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยลบ ได้แก่

1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี อยู่ที่ 2.25% ต่อปี

2. สถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง จากการจัดตั้งรัฐบาล และการดำเนินการในนโยบายต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

3. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป

4. ราคาพลังงาน และเชื้อเพลิงในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในระดับสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า วัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทย

5. อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง

6. ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค

7. การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย. 66 หดตัว 3.1% มูลค่าอยู่ที่ 24,826.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าลดลง 10.26% มีมูลค่าอยู่ที่ 24,768.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 57.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

8. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจากการดำเนินชีวิตประจำวัน

9. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.20 บาท/ลิตร ณ สิ้นเดือน ก.ค. 66

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

  • ความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมือง ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และความพร้อมในการดำเนินนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศผ่านกลไกการทำงานของภาครัฐ
  • สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
  • การดูแลต้นทุนภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ที่ปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนเสียโอกาสทางการค้า
  • การดูแลและจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ในภาวะที่สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ภาคเกษตรและประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนก.ค.66 ในหลายภูมิภาค เริ่มปรับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน แม้จะยังปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากความไม่ชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังมีความไม่แน่นอน

แต่ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่การฟื้นตัวนั้น ไม่ได้เป็นการฟื้นตัวในอัตราเร่ง เพราะขณะนี้เป็นช่วงที่ภาคธุรกิจยัง wait and see เพื่อรอดูโฉมหน้าของรัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่จะออกมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งของแต่ละภูมิภาคนั้น ภาคธุรกิจยังไม่มีความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งมากนัก โดยไม่ได้มองว่าจะเป็นปัจจัยลบที่รุนแรง เพียงแต่ยังต้องเฝ้าระวัง ซึ่งปัจจัยที่ภาคธุรกิจให้น้ำหนักมากกว่า คือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ