นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% มาอยู่ที่ 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.66 นั้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ธ.ก.ส. จึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.10-0.40% ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออม และเพิ่มผลตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs)
ลูกค้าทั่วไป :
- บัญชีเงินฝากประจำ ปลอดภาษี 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.40% ต่อปี
- บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน ปรับขึ้น 0.30% ต่อปี
- บัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.15% ต่อปี
ลูกค้านิติบุคคล ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ :
- บัญชีเงินฝากประจำ 24 เดือน 36 เดือน 48 เดือน และ 60 เดือน อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.15% ต่อปี
- บัญชีเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ปรับขึ้น 0.10% ต่อปี
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ธ.ก.ส. ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ไว้ที่ 6.975% ต่อปี เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลูกค้า และสนับสนุนการฟื้นตัวจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและโรคระบาดที่เกิดขึ้น
โดย ธ.ก.ส. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เฉพาะอัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบัน และนิติบุคคลชั้นดี (MLR) 0.250% ต่อปี จาก 5.625% เป็น 5.875% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) 0.250% ต่อปี จาก 6.875% เป็น 7.125% ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
นายฉัตรชัย กล่าวว่า แม้จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบางประเภท ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาด แต่ ธ.ก.ส. ยังคงให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวและสร้างความเข้มแข็งให้กับลูกค้า ในภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน โดยการสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย 4% เป็นต้น
พร้อมดูแลภาระหนี้สินเกษตรกรลูกค้า ทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ควบคู่กับการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถยืนได้อย่างมั่นคง และสามารถก้าวข้ามกับดักหนี้ได้อย่างยั่งยืน