นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 2/66 ขยายตัว 1.8% ต่ำกว่าตลาดคาดโต 3.0%YoY และชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสที่ 1/66 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรก ขยายตัวได้ 2.2%
"เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 ขยายตัวได้ 1.8% ต่ำกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการส่งออกในไตรมาส 2 หดตัว 5.7% และหดตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส ซึ่งเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 นี้ มีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการท่องเที่ยว" เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/66 พบว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวสูงต่อเนื่อง การลงทุนรวมขยายตัวชะลอลง แต่การใช้จ่ายภาครัฐบาลลดลงต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการสาธารณสุขมีฐานสูงในปี 2565 ภาคการส่งออกโดยรวมขยายตัวชะลอลง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงหดตัว -5.7% ในขณะที่บริการรับยังคงขยายตัวสูง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.06% ใกล้เคียงกับ 1.05% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% เทียบกับ 3.9% และ 2.2% ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1.9 พันล้านดอลลาร์ (6.4 หมื่นล้านบาท) ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,923,183.5 ล้านบาท คิดเป็น 61.1% ของ GDP