นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน "Thailand Focus 2023" ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ถือว่าฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แม้บางช่วงข้อมูลเศรษฐกิจบางตัวจะออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด โดยการฟื้นตัวหลักๆ มาจากการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยวที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลง ซึ่ง ธปท.จะดูแลให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% และทำให้โจทย์ของนโยบายการเงิน ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สำหรับบริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในปีนี้ ทำให้โจทย์ของนโยบายการเงิน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จากที่ก่อนหน้านี้ ธปท. ต้องปรับนโยบายการเงินเพื่อให้เข้าสู่สภาวะปกติ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้นโยบายการเงินแบบ Smooth take off ที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดีแล้ว เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อกลับมาลดลง แต่โจทย์ของนโนบายการเงินในปัจจุบัน ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็น Good landing โดยทำนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในระยะปานกลาง และระยะยาว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจของ ธปท.นั้น จะมีการเปิดเผยมุมมอง และการปรับประมาณการต่างๆอีกครั้งในช่วงเดือนก.ย.นี้ โดยที่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบ ประกอบกับประเด็นสำคัญจากภายในประเทศ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงระดับ 90.6% ของ GDP ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่ฉุดกำลังซื้อในประเทศ
"ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เป็นผลกระทบที่มาต่อเนื่องจากโควิด-19 ซึ่ง ธปท.จะต้องมีแนวทางในการแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยเฉพาะคนที่เป็นหนี้เรื้อรัง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง" ผู้วาฯ ธปท.ระบุ
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นนี้ นายเศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า ส่งผลกระทบต่อภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ ธปท.ได้ระมัดระวังและให้ความสำคัญต่อผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยที่จะมีต่อภาคครัวเรือน รวมทั้งติดตามการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่จะไปสู่ประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม