(เพิ่มเติม) ฟิทช์ ให้อันดับหุ้นกู้ SCB มูลค่าไม่เกิน 2 หมื่นลบ.ที่ AA-(tha)

ข่าวต่างประเทศ Tuesday April 29, 2008 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้จัดอันดับหุ้นกู้บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในปีพ.ศ.2561 ที่ Aa-(tha) โดยการจัดอันดับครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของรายได้และความสามารถในการทำกำไรของ SCB เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากคุณภาพสินทรัพย์และการขยายตัวด้านการปล่อยกู้ที่ดีขึ้น
อันดับเครดิตของ SCB สะท้อนถึงผลประกอบการและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นและการเติบโตของสินเชื่อ ในขณะเดียวกัน SCB ยังสามารถรักษาระดับการกันสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ SCB เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเครือข่ายธุรกิจแบบครบวงจรที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย
ภายหลังจากที่ SCB ได้รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งในปี 2550 ธนาคารยังคงประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกปี 2551 โดยมีผลกำไรสุทธิที่ 6.8 พันล้านบาทเพิ่มขึ้น 84% จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิให้กับธนาคาร รวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียม ในไตรมาสแรกปี 2551 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของ SCB อยู่ที่ 3.7% (ไตรมาสแรกปี 2550 อยู่ที่ 3.3%) ซึ่งจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดของธนาคารไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง เครือข่ายที่แข็งแกร่งและนโยบายการขยายสินเชื่อของธนาคารในธุรกิจการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ การปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงการปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม น่าจะเป็นตัวช่วยให้ผลประกอบการของ SCB ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2551 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อนี้อาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารเพิ่มขึ้นในช่วงปีนี้ได้
ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2551 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยังไม่หักเงินสำรองของ SCB ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5 หมื่นล้านบาท หรือ 5.2% ของสินเชื่อรวม (ณ สิ้นปี 2550: 5.4 หมื่นล้านบาท หรือ 6.1% ของสินเชื่อรวม) ซึ่งเป็นผลมาจากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาทให้กับนักลงทุน คาดการณ์ว่าธนาคารจะลดระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงมาที่ประมาณ 4% ภายในสิ้นปี 2551
นอกจากนี้ธนาคารยังมีระดับสำรองหนี้สูญที่มากกว่า 80% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่เงินกองทุนขั้นที่ 1 ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 10.7% ของสินทรัพย์เสี่ยง ถึงแม้ว่าระดับเงินกองทุนดังกล่าวอาจลดลงมาที่ประมาณ 9% ภายในปีหน้า อันเป็นผลมาจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel II และตามหลักการกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ