นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะในระยะเร่งด่วนนี้ ได้มอบหมายให้รักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบกไปคำนวณต้นทุนการเดินรถ และกำหนดอัตราค่าโดยสาร และระยะเวลาที่จะปรับขึ้นค่าโดยสารที่เหมาะสม ซึ่งต้องเป็นอัตราที่ช่วยลดภาระการขาดทุนของผู้ประกอบการและไม่เป็นภาระให้กับประชาชน ขณะเดียวกันรักษาการอธิบดีกรมการขนส่งทางบกจะได้หารือกับผู้ประกอบการในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เพื่อรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการด้วย
ขณะเดียวกัน ในวันนี้ที่ประชุมร่วมกับกระทรวงพลังงานได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพลังงาน เพื่อสนับสนุนให้รถโดยสารสาธารณะใช้ก๊าซเอ็นจีวี และให้ได้ข้อสรุปแผนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 สัปดาห์ โดยหลักการจะให้ความสำคัญกับรถโดยสารสาธารณะก่อน ซึ่งจะมีการเตรียมปั้มและปริมาณเอ็นจีวีให้เพียงพอกับความต้องการของรถโดยสารสาธารณะ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการระยะยาว
"ปัจจุบันมีรถโดยสารสาธารณะที่เปลี่ยนเครื่องยนต์ใช้เอ็นจีวีทั่วประเทศเพียง 7% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ขณะที่มาตรการสนับสนุนให้ใช้เอ็นจีวียังไม่เรียบร้อย ดังนั้นระยะเร่งด่วนนี้จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการปรับค่าโดยสาร เพราะราคาน้ำมันมีผลกระทบโดยตรงกับค่าโดยสาร โดยการปรับค่าโดยสารต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งในส่วนของรถโดยสารของเอกชน และรถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)" นายทรงศักดิ์ กล่าว
ด้านนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งฯ จะประชุมอีกครั้งหลังจากกรมการขนส่งทางบกเสนอข้อสรุปที่หารือกับผู้ประกอบการ และผลสรุปการกำหนดอัตราค่าโดยสาร คาดว่าจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า
ส่วนอัตราค่าโดยสารของรถโดยสาร บขส. นั้น คาดว่าเมื่อมีการปรับค่าโดยสารให้กับผู้ประกอบการเพิ่มอีก ก็คงต้องให้ บขส. ปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งขั้น แต่ยังถือว่าน้อยกว่าการปรับขึ้นค่าโดยสารของรถร่วมเอกชน
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--