สภาพัฒน์ เผย Q1/66 หนี้ครัวเรือนยังสูง จับตาสินเชื่อรถยนต์ หนี้เสียพุ่ง 30%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 28, 2023 12:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพัฒน์ เผย Q1/66 หนี้ครัวเรือนยังสูง จับตาสินเชื่อรถยนต์ หนี้เสียพุ่ง 30%

สภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/66 การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น 1.7% อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.06% แนวโน้มดีขึ้น ขณะที่หนี้สินครัวเรือน ไตรมาส 1/66 ยังเพิ่มขึ้น 3.6% ยอดหนี้เฉียด 16 ล้านล้านบาท ส่วนคุณภาพสินเชื่อปรับตัวลดลงเล็กน้อย จับตาสินเชื่อรถยนต์ หนี้เสียพุ่ง 30% แนวโน้มเพิ่มขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/66 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ขณะที่ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างแรงงาน และอัตราการว่างงานยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับการจ้างงาน ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.7% จากการขยายตัวของการจ้างงานสาขานอกภาคเกษตรกรรมที่ 2.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 11.7% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และการเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่นเดียวกับสาขาก่อสร้างที่มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น 6.0% และสาขาการผลิต การค้าส่งและค้าปลีก และการขนส่งและเก็บสินค้า เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 0.3% 0.5% และ 1.1% ตามลำดับ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมการจ้างงานหดตัวลงเล็กน้อยจากปี 65 ที่ 0.2% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยแล้ง

ส่วนชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น โดยชั่วโมงการทำงานภาพรวม และภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาอยู่ที่ 42.7 และ 46.7 ตามลำดับ สำหรับค่าจ้างแรงงาน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน (ปรับตัวดีขึ้น 3 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 4/65) โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 15,412 และ 14,032 บาท/คน/เดือน ขณะที่อัตราการว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้น ลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 1.06% หรือมีผู้ว่างงานจำนวน 4.3 แสนคน

อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่

1. การขาดแคลนแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากพิจารณาตำแหน่งงานว่าง และจำนวนแรงงานที่ได้บรรจุงานในช่วงเดือนธ.ค. 65-มิ.ย. 66 จะพบว่า ผู้สมัครงาน 1 คน มีตำแหน่งงานรองรับถึง 5 ตำแหน่ง

2. การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการเกษียณอายุของแรงงานทักษะต่ำ โดยไตรมาส 2/66 มีแรงงานทักษะต่ำในภาคเอกชนที่กำลังจะเกษียณอายุกว่า 1.3 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่จะเข้ามาทดแทนมีแนวโน้มลดลง

3. ผลกระทบต่อการจ้างงาน และรายได้ของเกษตรกรจากภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยปริมาณฝนสะสมในปัจจุบันมีค่าน้อยกว่าค่าปกติในทุกภูมิภาค ซึ่งการลดลงของปริมาณน้ำ จะส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตร

"เรื่องการขาดแคลนแรงงาน ในเวลานี้ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะภาคบริการ แต่ในภาคการผลิตยังไม่ได้มีผลกระทบมากนัก เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นกลุ่มอาชีวะ จึงต้องดูมาตรการช่วยแก้ปัญหาในส่วนของภาคบริการ ทั้งนี้ มีสิ่งที่กังวล คือ ตำแหน่งงานว่าง กับคนที่ได้รับการจ้างงานยังไม่สอดคล้องกัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องหลักสูตรการสอน หรือจำนวนผู้ที่จบการศึกษาประมาณ 40-50% จบสายบริหาร แต่ตำแหน่งงานที่ต้องการส่วนใหญ่เป็นแรงงานสายวิทยาศาสตร์ วิศวะ หรือการผลิต ซึ่งต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่า จะมีการปรับปรุงอย่างไรให้ผู้ที่จบการศึกษาสอดคล้องกับตำแหน่งงานในตลาดได้มากขึ้น" นายดนุชา กล่าว
*หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/66 เพิ่ม 3.6%

สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/66 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ความเสี่ยงในการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โดยในไตรมาส 1/66 หนี้สินครัวเรือน มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน หากพิจารณาการก่อหนี้ครัวเรือนรายวัตถุประสงค์ พบว่า ครัวเรือนมีการก่อหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น

ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ NPLs มีมูลค่า 1.44 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.68% เพิ่มขึ้น 2.62% ของไตรมาสก่อน

"หนี้ครัวเรือนในซีรีส์อดีตที่ผ่านมา มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการปรับนิยามของหนี้ครัวเรือนใหม่ โดยนำหนี้ที่เกิดจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 4.83 แสนล้านบาท, หนี้สหกรณ์อื่นๆ 2.5 แสนล้านบาท, หนี้การเคหะแห่งชาติ 1.1 หมื่นล้านบาท และพิโกไฟแนนซ์ 1.4 พันล้านบาท รวมเป็นมูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 7 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ซีรีส์ที่สภาพัฒน์เคยคำนวณไว้ มีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0-4.5% โดยหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 90.6% ลดลงจากระดับ 91.4% ในไตรมาส 4/65" นายดนุชา กล่าว
* สินเชื่อยานยนต์ แนวโน้มหนี้เสียเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่

1. หนี้เสียและความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียของสินเชื่อยานยนต์ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1/66 หนี้ NPL ของสินเชื่อยานยนต์ เพิ่มสูงถึง 30.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ SML ต่อสินเชื่อรวม ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

2. การติดกับดักหนี้ของลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ สะท้อนจากพฤติกรรมการกู้ยืมของลูกหนี้สหกรณ์ส่วนใหญ่ เพื่อใช้สอยส่วนตัว 26.1% และเพื่อชำระหนี้สินเดิม 23.1%

3. การส่งเสริมให้คนไทยมีทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้อง แม้ว่าคนไทยจะมีระดับความรู้ทางการเงินดีขึ้น แต่การสำรวจการติดตามระดับความรู้ และการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ปี 65 พบว่า ทัศนคติทางการเงินที่ถูกต้องของคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับปี 63

"ต้องให้ความสำคัญกับหนี้สหกรณ์มากขึ้น เนื่องจากเหตุผลของการก่อหนี้ กู้มาเพื่อใช้จ่ายส่วนตัว และชำระหนี้เดิม ทำให้ติดกับดักหนี้ และควรให้ความสำคัญกับหนี้ที่อยู่อาศัย หนี้บัตรเครดิต และหนี้รถยนต์ด้วย ทั้งนี้ ประชาชนมีความรู้เรื่องการเงินมีความสำคัญ แต่การใช้เงินที่ถูกต้องแย่ลง โดยพบว่าการวางแผนทางการเงินในอนาคตลดลง กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเก็บออมเพื่ออนาคต ก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้น ต้องเร่งให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณไม่ให้ลำบาก มองว่าต้องเร่งสร้างทัศนคติตั้งแต่วัยแรงงาน" นายดนุชา กล่าว
*สภาพัฒน์ ยัน VAT 10% เป็นเพียงแนวคิดหาเงินเพิ่ม

นายดนุชา กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวออกมาสัปดาห์ที่แล้วว่า สภาพัฒน์เสนอปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากเดิม 7% เป็น 10% โดยจะนำ 3% ที่ปรับขึ้นบางส่วน ไปจัดสวัสดิการรองรับสังคมผู้สูงอายุนั้น ขอยืนยันว่า เรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ทั้งนี้ มีการพูดคุยกันในคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคม แต่ในรายละเอียดยังต้องมีการพูดคุยกันอีกมาก

"ข่าวที่ออกมา เกิดจากการที่สำนักงานสภาพัฒน์ มีการจัดสัมมนาในแง่ของสังคมข้ามรุ่น เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยประเด็นเรื่องนี้ถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน ยังเป็นแค่แนวคิดหนึ่งที่น่าจะมาพิจารณาดู เพราะแนวคิดนี้อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้งบประมาณแผ่นดินในการรองรับสวัสดิการของสังคมสูงวัย สภาพัฒน์ยังไม่ได้คิดที่จะเสนอเรื่องนี้กับใคร เป็นไอเดียหนึ่งในงานสัมมนาเท่านั้น เพื่อรับฟังว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ความเห็นของคนส่วนใหญ่คิดอย่างไร ซึ่งอาจมีทางเลือกอื่นๆ ในอนาคต" นายดนุชา กล่าว
*สภาพัฒน์ รอดูรายละเอียด "นโยบายแจกเงินดิจิทัล"

สำหรับความเห็นเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น นายดนุชา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว ยังมีออกมาเรื่อยๆ ต้องดูวิธีการว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร ขณะนี้จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เช่นเดียวกับเรื่องงบประมาณ ภาวะการคลัง ต้องมีการพูดคุยกับหลายหน่วยงาน และดูในรายละเอียด ว่าจะสามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้หรือไม่

เมื่อถามถึงความกังวลหากมีการแจกเงินดิจิทัล ควบคู่กับนโยบายพักชำระหนี้ จะมีผลต่อหนี้ครัวเรือนหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเน้นเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นผลในเชิงจิตวิทยา หรือ Moral Hazard ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้ ต้องเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อทำให้ผู้ที่ต้องชำระหนี้หรือส่งหนี้ตลอด สามารถส่งหนี้ต่อไปได้ และสามารถช่วยในแง่กำลังการใช้จ่ายด้วย อย่างไรก็ดี ต้องมีการพูดคุยกับหลายหน่วยงาน พิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยมาตรการต่างๆ ที่ออกมาต้องดูในแง่ผลกระทบและผลในเชิงบวกด้วย

ส่วนที่นายกฯ ระบุว่า ไตรมาส 2/66 GDP ออกมาต่ำกว่าที่คาด จึงอาจต้องนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ นายดนุชา กล่าวว่า ตอนแถลงข่าวรายงาน GDP ไตรมาส 2/66 เคยกล่าวว่า GDP ไตรมาส 2/66 โตได้แค่ 1.8% ปัญหาที่เกิดขึ้นหลักๆ มาจาก 2 เรื่อง คือ

1. การส่งออกที่หดตัวตั้งแต่ ไตรมาส 4/65 ถึงไตรมาส 2/66 ซึ่งเกี่ยวเนื่องภาคการผลิตในประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตปรับตัวลดลง และ 2. เรื่องการอุปโภคบริโภคของรัฐบาล ที่เงินโอนเพื่อสวัสดิการหายไป เนื่องจากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 แล้ว

ดังนั้น เรื่องส่งออกต้องมีการเร่งทำตลาดมากขึ้น แม้ว่ามูลค่าการส่งออกที่ผ่านมาหลายเดือน จะอยู่ที่ประมาณ 20,000 กว่าล้านเหรียญ แต่ในเชิงการขยายตัวไม่ได้ขยายตัวขึ้นมาก เพราะเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จะหดตัวลง ซึ่งต้องเร่งดูเรื่องนี้ต่อไป

เมื่อถามว่าวันนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานไปพูดคุย มีสภาพัฒน์ด้วยหรือไม่นั้น นายดนุชา กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่นายกฯ ใหม่ มีกระบวนการที่ต้องดำเนินการหลายเรื่อง ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในเชิงนโยบาย นายกฯ ก็ต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ต้องมีการอธิบายหลักการ รูปแบบต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ