การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของภาคเอกชน ภายใต้โครงการประเมินความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยมีกลุ่มนักลงทุน บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ พันธมิตรทางธุรกิจของ กทพ. เข้าร่วมประชุม 27 ราย จากที่เชิญ 40 ราย
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า กทพ.ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ และใช้ระบบภูมิสารสนเทศเก็บข้อมูล และจำแนกการใช้พื้นที่ โดยครอบคลุมที่ดินของหน่วยงานอื่นๆ พื้นที่ใช้ประโยชน์ และพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมและ คุ้มค่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของภาคเอกชน (Market Sounding) เพื่อรับฟังมุมมองด้านธุรกิจจากเอกชน และนำไปปรับปรุงการพัฒนาให้เหมาะสม
โดยได้กำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ 25 พื้นที่ ทั้งแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- พื้นที่ศักยภาพในเมือง 7 พื้นที่ ได้แก่ ถนนสีลม (ทางพิเศษศรีรัช), อโศก (ทางพิเศษศรีรัช), สุขาภิบาล 5 (ทางพิเศษฉลองรัช), หัวถนนรามอินทรา (ทางพิเศษฉลองรัช), เพลินจิต (ทางพิเศษเฉลิมหานคร), อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ทางพิเศษศรีรัช) และปากซอยวัชรพล (ทางพิเศษฉลองรัช)
โดยจะนำร่องพื้นที่ย่านอโศก สีลม เพลินจิต และวัชรพล ส่วนรูปแบบการพัฒนาพื้นที่เบื้องต้น กรณีให้เช่าพัฒนา ระยะเวลาประมาณ 3 ปี, กรณีเปิดร่วมลงทุนฯ (PPP) ระยะเวลาประมาณ 5-15 ปี หากพื้นที่ใดประสงค์ก่อสร้างอาคาร จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางพิเศษ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ช่วงไตรมาส 3/67 และครบทั้งหมดภายในปี 70
- พื้นที่ศักยภาพชานเมือง 8 พื้นที่ ได้แก่ ถนนศรีสมาน (ทางพิเศษอุดรรัถยา), จุดตัดถนนเทพรักษ์ ด้านทิศใต้ (ทางพิเศษฉลองรัช), จุดตัดถนนเทพรักษ์ ด้านทิศใต้ (ทางพิเศษกาญจนาภิเษก), จุดตัดถนนศรีครินทร์ ด้านทิศใต้ (ทางพิเศษกาญจนาภิเษก), บริเวณ กม.16 (ทางพิเศษอุดรรัถยา), พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ (ทางพิเศษกาญจนาภิเษก), ถนนจตุโชติ-วงแหวนรอบนอก (ทางพิเศษฉลองรัช) และต่างระดับบางปะอิน (ทางพิเศษอุดรรัถยา)
- พื้นที่เตรียมพร้อมรองรับสู่การติดตั้ง EV Station 10 พื้นที่ อาทิ ถนนพระราม 6 ซอย 20, หน้าด่านรามคำแหง, ด่านสุรวงศ์, หลังด่านเก็บเงินคลองประปา งามวงศ์วาน, เซ็นทรัลพระราม 3, จุดกลับรถลาดพร้าว ทาวน์อินทาวน์ เป็นต้น
ปัจจุบัน จากพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ได้ประมาณ 3,000 ไร่ กทพ.นำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์แล้ว 37.74% และใช้เชิงพาณิชย์ 9% จึงยังมีพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาได้อีกมากกว่า 53% ซึ่ง กทพ. มีเป้าหมายเพิ่มการนำพื้นที่ศักยภาพมาดำเนินการพัฒนาเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ควบคู่สาธารณประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี
ทั้งนี้ ยังมีแผนจะพัฒนาพื้นที่ตามแนวเขตทางพิเศษของโครงการทางพิเศษสายใหม่ ๆ ในอนาคต ที่ดำเนินการภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษของ กทพ. ซึ่งจะครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และเขตภูมิภาค เช่น ภูเก็ต และสมุย อีกด้วย