สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 66 คาดหดตัว 2.8 - 3.8% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัว 1.5-2.5% หลังดัชนี MPI 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) หดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5%
ขณะที่ ดัชนี MPI เดือนก.ค. อยู่ที่ระดับ 91.14 ลดลง 4.43% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนก.ค.66 อยู่ที่ 58.19%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า หลังจาก 7 เดือนแรกของปี 66 ดัชนี MPI หดตัว 4.5% ส่งผลให้ สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI และการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง อีกทั้งปัญหาภาคการเงินของประเทศต่าง ๆ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวดี การลงทุนในประเทศ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมีความชัดเจนทางการเมือง ทั้งนี้ ดัชนีเดือน ก.ค.ยังอยู่ในทิศทางปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกหดตัวซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วโลก แม้มีรายได้จากการท่องเที่ยวมาช่วยพยุงไว้แต่ยังไม่ได้ตามเป้าที่คาดการณ์ไว้
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตในเดือนก.ค.66 ได้แก่
- คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง หดตัว 39.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจาก HDD เป็นหลัก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปใช้สินค้าชนิดอื่นทดแทน
- เฟอร์นิเจอร์ หดตัว 44.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเครื่องเรือนที่ทำด้วยไม้และโลหะ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยลดลงต่อเนื่องเป็นแดือนที่ 17
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก ได้แก่
- ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.34% จากรถยนต์นั่งขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเครื่องยนต์แก๊สโซลีน เป็นหลัก ตามการขยายตัวของตลาดส่งออกที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอเมริกาเหนือที่ลดลง
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.99% จากน้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง
- เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.11% จากเหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็กกล้า เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นกลม เป็นหลัก ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน หลังจากผู้รับซื้อเหล็กภายในประเทศลดการนำเข้าเหล็ก และใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศแทน
- น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.40% จากน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์ ตามความต้องการบริโภคที่มีมากขึ้นจากทั้งภาคครัวเรือนและภาคการท่องเที่ยว
- เครื่องปรุงอาหารประจำโต๊ะ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.09% จากซอสพริกและผงชูรสเป็นหลัก โดยขยายตัวจากตลาดส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและภูมิภาคอื่นๆ ของโลก รวมถึงความต้องการในประเทศหลังการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง
ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า สัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงนั้น ปัจจัยในประเทศมาจากการลงทุนภาครัฐและเอกชน แม้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้จะขยายตัว 1.6% แต่มีทิศทางการเติบโตไม่มาก โดยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลง 1.95%
"หากลงไปดูที่ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าจะพบว่า การนำเข้าสินค้าทุนจำพวกเครื่องจักรมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในอนาคต" นางวรวรรณ กล่าว