"ธรรมนัส-ไผ่" ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่สมุทรสงคราม เร่งแก้ปัญหาประมง เดินหน้าปลดล็อคอุปสรรค

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 1, 2023 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ประกอบด้วย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) นางมนพร เจริญศรี สส.นครพนม นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม นางนลินี ทวีสิน คณะทำงานด้านนโยบายต่างประเทศ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม คณะทำงานด้านนโยบายการท่องเที่ยว น.ส.ณิชาภา โกวิทานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.สมุทรสงคราม

นอกจากนี้ ยังมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่าที่รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พปชร. ว่าที่รมช.พาณิชย์ ร่วมลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนและภาคการประมง ท่าเทียบเรือโรงน้ำแข็งศิริไพโรจน์ จ.สมุทรสงคราม โดยมีชาวประมงจังหวัดสุมทรสงครามและใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟังและสะท้อนปัญหากว่า 200 คน

โดยมีประเด็นสำคัญจากกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ไทยเป็นประเทศที่ทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing :IUU Fishing) โดยให้ใบเหลืองประเทศไทยเมื่อเดือน เม.ย.58 ปัจจุบันได้ปลดใบเหลืองแล้วเมื่อวันที่ 8 ม.ค.62 ในช่วงที่ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดของอียูนั้น ไทยได้ออก พ.ร.ก.การประมง 2558 ฉบับแก้ไข สร้างผลกระทบให้กับชาวประมงพื้นบ้านเป็นอย่างมาก ซึ่งมีประเด็นปัญหาหลายด้าน เช่น

1.ขอให้แก้ไขการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในเรือประมง ติดขัดกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่ง รมว.มหาดไทย ที่มีประกาศการเข้าเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่เกินกำหนดระยะเวลา (Overstay)

2.ขอให้อำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการขออนุญาตการใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจากมีหน่วยงานที่รับผิดชอบมากเกินไป ทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหายุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

3.ขอให้แก้ไขกฎหมายการประมงที่กำหนดโทษรุนแรงเกินกว่าเหตุ เช่น ในขั้นตอนการลำเลียงสัตว์น้ำต้องมีการแสดงเอกสารรายชื่อแรงงานที่ลงเรือ หากมีรายชื่อแรงงานผิดคนเดียวจะถูกปรับไม่ต่ำกว่าแสนบาทถึงนับล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ

4.ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน แก้ปัญหาการประมง

5.ขอให้ยกเลิกการติดตั้งเครื่องวิทยุคมนาคมสำหรับเรือประมง (วิทยุขาวดำ) ซึ่งไม่มีความจำเป็น เป็นต้น

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ได้กลับมาที่นี่อีกครั้งในบทบาทใหม่ เพื่อเข้ามารับฟังปัญหา มีผู้ที่รู้จริงทำจริงเข้ามาเตรียมพร้อมการทำงานร่วมกัน วันนี้ได้เห็นถึงความยากลำบากของประชาชน ขอให้ชาวประมงมั่นใจว่า คณะทำงานที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลจะเดินหน้าทำงานเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวประมงทุกคน นับตั้งแต่ที่ตนได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เรื่องแรกที่เร่งดำเนินการคือการส่งเสริมการท่องเที่ยว เรื่องที่ 2 ซึ่งได้ดำเนินการในต้นสัปดาห์นี้ คือ การแก้ไขหนี้สิน และในวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ 3 คือการทำการประมง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญสูงสุด โดยก่อนที่จะมีการออกกฏหมายเพื่อปฎิบัติตามกฏ IUU Fishing ประเทศไทยเคยส่งออกสัตว์ทะเลคิดเป็นมูลค่า 350,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 150,000 ล้านบาทต่อปี

ในเบื้องต้น นายปลอดประสพ และคณะทำงาน จะเริ่มศึกษาการปลดล็อคปัญหาด้านแรงงาน เฉพาะกลุ่มการประมงก่อน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยมีแนวคิดจะทำ One stop service เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวประมง

ส่วนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องการบังคับติดตั้งวิทยุขาวดำบนเรือซึ่งไม่มีความสำคัญ อาจจะมีการพิจารณายกเลิก รวมถึงจะขอเปิดการเจรจาระหว่างประเทศกับอินโดนีเซียในการเปิดน่านน้ำอินโดนีเซีย เนื่องจากมีทรัพยากร ส่วนไทยมีความรู้ความสามารถในการทำการประมง หากจัดสรรกันอย่างลงตัวจะเดินไปข้างหน้าร่วมกันได้ง่ายขึ้น โดยมีนางนลินี และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร ทำหน้าที่ประสานงานการเจรจาระหว่างประเทศ

ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการประมงที่ตกไป 13 ฉบับ มั่นใจว่าจะแก้ไขได้ ฝาก ร.อ.ธรรมนัส ช่วยดูแลรับผิดชอบ ส่วนที่ผู้ประกอบการที่มีความเป็นห่วงเรื่องค่าแรงที่ต้องทยอยปรับขึ้นนั้น การขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายหลักต้องระมัดระวัง แต่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรง เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการให้ความสำคัญในการเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะภาคเอสเอ็มอี ต้องหารือร่วมกันหลายฝ่ายและทำทันที ส่วนจะเกิดประสิทธิผลเมื่อไหร่ อย่างไร ต้องทำงานร่วมกันกับพรรคร่วมรัฐบาล เราเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วม ต้องประสานความร่วมมือกัน

"8-9 ปีที่ผ่านมา ที่ประมงไทยต้องหยุดชะงัก ติดหล่ม ไม่อยากโทษใคร แม้ประเทศไทยเคยส่งออกสัตว์ประมงได้ 350,000 ล้านบาท อนนี้นำเข้า 150,000 ล้านบาท ผ่านมากี่ปีสูญเสียเงินไปเท่าไหร่ ซึ่งเราต้องไปแก้ไขกัน เดินหน้าดีกว่า อย่ามองปัญหาเก่า ขอให้พี่น้องมั่นใจในพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลชุดใหม่ เราเป็นรัฐบาลของประชาชน เราเชื่อมั่นว่ารัฐมนตรีทุกคน มีความเป็นห่วงต่อประชาชนและมีความเป็นห่วงประเทศ" นายเศรษฐา กล่าว

ด้าน นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการศึกษาและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องกฎระเบียบระดับย่อย ซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาทบทวนอยู่ในขณะนี้ รวมถึงการศึกษาเรื่องกฎหมายลูกด้านการประมง โดยให้เวลาศึกษาเร่งทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนการศึกษากฏหมายหลักด้านการประมงมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ จะรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อประธานสภาเพื่อพิจารณานำเข้าสู่ที่ประชุมสภาโดยเร็วที่สุด ส่วนการเจรจาระหว่างประเทศจะเริ่มเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพื่อนำไปสู่การเจรจากับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations :FAO) ซึ่งเป็นเจ้าของระเบียบ IUU Fishing และจะเจรจากับสหภาพยุโรปในลำดับต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยกลับไปสู่ยุครุ่งเรือง กลับไปสู่การเป็นเจ้าสมุทรอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ