นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขับเคลื่อนการบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองลดลง ความขัดแย้งเผชิญหน้าทางการเมืองก่อนการรัฐประหารปี 2557 คลี่คลายลงอย่างมาก หากรัฐบาลสามารถบริหารนโยบายได้ตามเป้าหมาย น่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทะลุระดับ 19 ล้านล้านบาทได้ และรายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีสูงกว่า 270,000 บาทได้ในช่วงปลายปี 2567 โดยไทยจะมีอัตราการขยายตัวในปี 2567 อย่างต่ำในระดับ 4.5-5% หากประเทศไทยสามารถเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 3 เท่าจากระดับปัจจุบันในอีก 1-2 ทศวรรษหน้า ประเทศไทยก็จะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงขั้นแรก คือ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 810,000 บาทต่อปี
นายอนุสรณ์ เห็นว่า ความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย มีความสำคัญต่อเสถียรภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่คลี่คลายลงเ ป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระยะยาว
ขณะเดียวกัน รัฐสภามีฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกล ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารประเทศได้อย่างมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก้าวหน้าต่อไป ความขัดแย้งรุนแรงเผชิญหน้าและการเมืองบนท้องถนนจะลดลง เป็นช่วงเวลาที่ประเทศมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าในช่วง 17-18 ปีที่ผ่านมาก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังการใช้นโยบายประชานิยม ที่ไม่ได้ยึดถือกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี และไม่ใส่ใจต่อวินัยการเงินการคลัง เพราะนอกจากประเทศจะมีหนี้สาธารณะคงค้างอยู่ที่ 10.92 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 61.69% แล้ว ในช่วง 2 ทศวรรษ รัฐบาลต่างๆ ได้ดำเนินนโยบายกึ่งการคลังผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และรัฐบาลยังคงติดค้างหนี้เงินชดเชยรายได้ธนาคารเฉพาะกิจจำนวนมาก ยอดหนี้สาธารณะนี้ มีทั้งภาระผูกพันโดยตรง (Direct Liabilities) และภาระผูกพันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (Contingent Liabilities) หนี้คงค้างที่รัฐบาลได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยการชดเชยค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รัฐบาลยังคงติดค้างหนี้เงินชดเชยรายได้ให้ กฟผ. และกองทุนประกันสังคมอีกด้วย